กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 September 2022 23:02
- Hits: 2212
กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กพยช. รายงานว่า
1. แนวคิดในการจัดทำกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากกรอบการวิจัยด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรม (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560) ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ประกอบกับพระราชบัญญัติกรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มีการปฏิรูประบบบริหารงานวิจัยของประเทศ โดยมีระบบบริหารงานวิจัยใหม่ที่เรียกว่า การปฏิรูประบบส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีการวิจัยและขอรับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากกองทุน ววน. ให้แยกคำของบประมาณวิจัยออกจากงบประมาณตามภารกิจ ดังนั้น การจัดทำกรอบวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมและแนวทางการจัดทำข้อเสนอวิจัยตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมฯ โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ กพยช. ได้จัดทำกรอบการวิจัยฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการวิจัยด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและมีการบูรณาการการทำงาน อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบงานยุติธรรมของประเทศ และมีการผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) (2) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) (3) แผนปฏิรูปประเทศ (พ.ศ. 2561 - 2580) และ (4) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2569) รวมทั้งมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงการปฏิรูประบบส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถานการณ์อาชญากรรม เศรษฐกิจ สังคม และการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. กพยช. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 ซึ่งประกอบด้วย 5 กรอบการวิจัย ดังนี้
2.1 กรอบการวิจัยที่ 1 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข โดยมีประเด็นปฏิรูปสำคัญ เช่น (1) การดำเนินงานในทุกขั้นตอนมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและมีระบบตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงาน (2) มีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้มีอรรถคดีให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเสมอภาค และมีหลักประกันคุ้มครองสิทธิที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และ (3) มีกลไกบังคับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ และนำมาตรการอื่นมาใช้แทนการควบคุมตัว จำคุก กักขัง และมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน เช่น (1) การวิจัยเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม (2) ชุดโครงการเพื่อพัฒนามาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญที่เกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง และ (3) การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการสืบสวน สอบสวน ฟ้องร้อง และการพิจารณาคดี
เป้าประสงค์ |
ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ |
|
- เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล - ส่งเสริมสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม - ลดคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและอัตรากระทำผิดซ้ำ |
- อัตราผู้กระทำผิดซ้ำลดลง - ร้อยละที่ลดลงของคดีอาญาที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม - ร้อยละของระยะเวลาในการดำเนินคดีลดลง - ร้อยละของประชาชนที่มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมอาญา |
2.2 กรอบการวิจัยที่ 2 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ปกครอง เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข โดยมีประเด็นปฏิรูปสำคัญ เช่น (1) การดำเนินงานในทุกขั้นตอนมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและมีระบบตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงาน (2) มีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้มีอรรถคดีให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเสมอภาค และมีหลักประกันคุ้มครองสิทธิที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และ (3) มีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งอำนวยความยุติธรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว และขจัดวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการอำนวยการยุติธรรม โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร และมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน เช่น (1) การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (2) การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และ (3) การวิจัยเพื่อพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมการเยียวยาผู้เสียหาย การลดความเหลื่อมล้ำ การคุ้มครองสิทธิ
เป้าประสงค์ |
ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ |
|
- เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ทางปกครองที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล - ส่งเสริมสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข |
- ระดับความพึงพอใจของผู้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี/การไกล่เกลี่ย ผู้ได้รับการเยียวยาข้อพิพาททางปกครองและได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า ... - จำนวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการงานยุติธรรมที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และเหลื่อมล้ำของประชาชน รวมถึงความไม่ทันสมัยของกฎหมายที่ลดลง ... - การพิจารณาคดีทางแพ่ง ทางปกครองแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นร้อยละ ... - มีกระบวนการและกลไกส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือก การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม |
2.3 กรอบการวิจัยที่ 3 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมาย ให้กฎหมายมีความทันสมัยสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤต โดยมีประเด็นปฏิรูปสำคัญ เช่น (1) มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็น และมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2) ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน และ (3) มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม และมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน เช่น (1) การวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการออกกฎหมาย (2) การวิจัยเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และ (3) การจัดทำแนวทางในการสังคายนากฎหมาย
เป้าประสงค์ |
ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ |
|
เพื่อพัฒนากฎหมายที่ยึดหลักนิติธรรม (Rule of law) ทันสมัย รอบด้าน และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ |
- จำนวนกฎหมายมีการวิเคราะห์ผลกระทบก่อนการตรากฎหมายเพื่อบังคับใช้ ตลอดจนผ่านกระบวนการและกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรากฎหมาย - จำนวนกฎหมายที่มีการประกาศใช้แล้ว มีการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายเสมอ - มีกระบวนการส่งเสริมพัฒนากฎหมายใหม่ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการบังคับใช้กฎหมายต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน |
2.4 กรอบการวิจัยที่ 4 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม ทันสมัย สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤต โดยมีประเด็นปฏิรูปสำคัญ ได้แก่ (1) ให้มีการปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารงานยุติธรรม เพื่อให้สังคมมีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนและมีความเป็นธรรม โดยมีการกำหนดโทษอาญาที่เหมาะสมได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำผิด มีการกระทำผิดซ้ำลดลง (2) พัฒนาระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด (3) บูรณาการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาและจำเลย และ (4) มีการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านกระบวนการยุติธรรม และ (2) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม (เช่น การพัฒนางานพิสูจน์หลักฐาน)
เป้าประสงค์ |
ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ |
|
เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ บูรณาการเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีนวัตกรรมสนับสนุนการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมที่ทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการยุติธรรม |
- มีระบบฐานข้อมูล มีการบูรณาการฐานข้อมูลกลางและเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายและการบริหารงานยุติธรรม - มีการใช้นวัตกรรมสนับสนุนระบบการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม |
2.5 กรอบการวิจัยที่ 5 กรอบการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้มีระบบบริหารจัดการที่ทันสมัยสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤต โดยมีประเด็นวิจัยเร่งด่วน เช่น (1) ชุดโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม (2) ชุดโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และ (3) ชุดโครงการเพื่อพัฒนาและจัดทำตัวชี้วัดกระบวนการยุติธรรม
เป้าประสงค์ |
ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ |
|
- เพื่อส่งเสริมระบบบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ - ส่งเสริมความเป็นธรรม ความก้าวหน้า และการทำงานบูรณาการ เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสงบสุข |
- ร้อยละของการบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดบูรณาการของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม - อัตราส่วนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมได้รับการพัฒนาศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ มีเส้นทางอาชีพ และมีสุขภาวะด้านร่างกายและจิตใจเข้มแข็ง - ตัวชี้วัดด้านกระบวนการยุติธรรมสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง - มีกระบวนการและกลไกจัดการองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมมีความครอบคลุมในทุกมิติ และสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย |
3. การบริหารจัดการงานวิจัยด้านการบริหารงานยุติธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมไทย สกธ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยในกระบวนการยุติธรรมได้พัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมไทย ประกอบด้วยการบูรณาการ 3 กระบวนการ ได้แก่ (1) กระบวนการต้นน้ำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย กำหนดกรอบแผนงานวิจัย พิจารณาหัวข้อโครงการ จัดทำข้อเสนอโครงการ และเสนอขอรับทุนวิจัยร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดทำกรอบการวิจัยฯ ด้วย (2) กระบวนการกลางน้ำ โดยการบริหารและดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมหลังจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณ การจัดทำสัญญาและหานักวิจัย รวมถึงการติดตามการดำเนินโครงการ และ (3) กระบวนการปลายน้ำ โดยร่วมกันผลักดันให้นำการวิจัยที่แล้วเสร็จไปสู่การใช้ประโยชน์ด้วยการจัดประชุมเวทีสัมมนาวิชาการและการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัย เพื่อนำผลการประเมินมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงงานวิจัยในปีต่อๆ ไป ให้มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 20 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9744