เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ...
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 September 2022 22:41
- Hits: 1976
เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ...
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่เพื่อผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทยรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า
1. ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ได้สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564 มีผลให้คณะอนุกรรมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกที่ มท. กำหนดขึ้นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 สิ้นสุดลงด้วย และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในระดับพื้นที่มีความต่อเนื่องและนำไปสู่การบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 20/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบให้มีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่เพื่อผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ
2. สำนักงาน ป.ป.ช. ได้แจ้งมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ตามข้อ 1) ให้ มท. ปรับกลไกระดับจังหวัดที่มีอยู่เดิมจาก “คณะอนุกรรมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับจังหวัด” เป็น “คณะอนุกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบระดับจังหวัด” โดยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต* (คณะกรรมการ สปท.) ตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาแนวทางบูรณาการและการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อจัดทำร่างคำสั่งจังหวัดแต่งตั้งคณะอนุกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ...
3. คณะกรรมการ สปท. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 มีมติให้ปรับกลไกการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับจังหวัด จาก “คณะอนุกรรมการ...” เป็น “คณะกรรมการ...” และเห็นชอบร่างคำสั่งจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ... และให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 54/2565 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด ... โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ดังนี้
3.1 องค์ประกอบ
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานกรรมการ
(2) รองผู้ว่าราชการจังหวัด (รับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตจังหวัด) กรรมการ
(3) ปลัดจังหวัด กรรมการ
(4) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด กรรมการ
(5) ท้องถิ่นจังหวัด กรรมการ
(6) วัฒนธรรมจังหวัด กรรมการ
(7) ศึกษาธิการจังหวัด กรรมการ
(8) หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 15 คน กรรมการ
(9) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กรรมการ
(10) นายกเทศมนตรี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน กรรมการ
(11) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 3 คน กรรมการ
(12) ประธานหอการค้าจังหวัด กรรมการ
(13) ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด กรรมการ
(14) ประธานชมรมธนาคารจังหวัด กรรมการ
(15) ผู้แทนจากสถาบันทางวิชาการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน กรรมการ
(16) ผู้แทนคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด กรรมการ
(17) ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน กรรมการ
(18) ผู้แทนภาคสื่อสารมวลชนสาธารณะ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 คน กรรมการ
(19) ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และเลขานุการร่วม กรรมการ
(20) ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต หรือผู้แทน และเลขานุการ กรรมการ
(21) หัวหน้าสำนักงานจังหวัด และเลขานุการร่วม กรรมการ
3.2 หน้าที่และอำนาจ
(1) จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับจังหวัดเพื่อบรรลุเป้าหมายประเทศไทยปลอดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบและยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 - 2580)
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยให้มีการรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชน เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทุจริต เพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง
(3) ขับเคลื่อน สนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด
(4) กำกับดูแล และติดตามการแก้ไขปัญหาการทุจริตในจังหวัดเพื่อลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยนำสถิติคดี ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา
(5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือที่ได้รับมอบหมาย
(6) ปฏิบัติหน้าที่และรายงานผลตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ กำหนด
(7) ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับจังหวัดและรายงานผลต่อศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต มท. เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นรายไตรมาส
(8) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะบุคคลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
__________________
*คณะกรรมการ สปท. มีหน้าที่และอำนาจในการให้คำเสนอแนะ ช่วยเหลือ และร่วมมือกันดำเนินการกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่อง ดังต่อไปนี้ (1) ส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือพยานหลักฐานสำหรับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยช่องทางดังกล่าวต้องมีวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้งดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต (2) ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการจัดให้มีกลไกการแจ้งเตือน กรณีพบว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการทุจริตในหน่วยงานของตน และ (3) ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการทุจริต รวมถึงค่านิยมที่เน้นการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ในสังคม เพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 20 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9740