การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้าย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 September 2022 22:31
- Hits: 1487
การดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้าย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และธนาคารแห่งประเทศไทยถือปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือข้อขัดข้องหรืออุปสรรค์ในการปฏิบัติตามข้อมติดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทราบ เพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อสหประชาชาติต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ภายหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายที่สหรัฐอเมริกาโดยกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaida) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 UNSC ได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1368 (ค.ศ. 2001) ประณามการก่อการร้ายดังกล่าว และต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 UNSC ได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1373 (ค.ศ. 2001) เรียกร้องให้รัฐสมาชิกป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง [คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2544 อนุมัติและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการตามข้อมติ UNSC ที่ 1373 (ค.ศ. 2001) แล้ว]
2. ที่ผ่านมา UNSC ได้มีการรับรองข้อมติ UNSC เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้ายหลายฉบับเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การก่อการร้ายที่เปลี่ยนแปลงไปและป้องกันภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และในการประชุมครั้งที่ 8934 ของ UNSC เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมฯ ได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติจึงมีพันธกรณีที่ต้องดำเนินการตามข้อมติดังกล่าว เนื่องจากมีผลผูกพันไทยอย่างครบถ้วน และข้อมติ UNSC ฯ เป็นการระบุเกี่ยวกับการดำเนินการตามหมวด 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ (การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพการละเมิดสันติภาพและการกระทำการรุกราน)
3. กระทรวงการต่างประเทศขอนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบและรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เรื่อง การต่อต้านการก่อการร้ายโดยมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยถือปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือข้อขัดข้องหรืออุปสรรคในการปฏิบัติตามข้อมติดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ เพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อสหประชาชาติต่อไป ซึ่งข้อมติดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้
ข้อมติ UNSC ที่ 2610 (ค.ศ. 2021) เป็นการกำหนดให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติดำเนินการตามมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันและตอบสนองต่อสถานการณ์การก่อการร้ายระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
1) การอายัดทรัพย์สิน :อายัดเงินทุนและสินทรัพย์ทางการเงินหรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของบุคคลกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนท์ (Islamic state in Iraq and the Levant: ISIL) และ Al-Qaida โดยทันที ซึ่งรวมถึงเงินทุนที่ได้มาจากทรัพย์สินที่บุคคลเหล่านี้เป็นเจ้าของหรือควบคุมทั้งทางตรงและทางอ้อม และดำเนินการเพื่อประกันว่าเงินทุนเหล่านี้จะไม่ถูกใช้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ของบุคคลดังกล่าว
2) การห้ามเดินทาง : การป้องกันการเข้าประเทศหรือการเดินทางผ่านของกลุ่ม ISIL และ Al-Qaida โดยมีเงื่อนไขว่า มาตรการนี้จะไม่ใช้บังคับในกรณีที่การเข้าหรือผ่านนั้นเป็นไปเพื่อการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
3) การค่ำบาตรทางอาวุธ : ป้องกันมิให้มีการจัดหา ขาย หรือถ่ายโอนอาวุธและอุปกรณ์ทุกประเภท รวมถึงคำแนะนำเชิงเทคนิค ความช่วยเหลือ หรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทหารไปยังบุคคล กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ISIL และ Al-Qaida ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
4) เกณฑ์การขึ้นบัญชี : การกระทำหรือกิจกรรมของบุคคล กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ISIL และ Al-Qaida ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่บ่งชี้ว่าสนับสนุนหรือมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว ดังนี้ (1) การมีส่วนร่วมในการจัดหาเงินทุน วางแผน อำนวยความสะดวกทางสินทรัพย์ การงิน ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และธุรกรรมทางการเงินหรือกิจกรรมสร้างรายได้ใดๆ ทุกประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มดังกล่าว เช่น การค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาวุธ วัตถุโบราณ ผลประโยชน์จากอาชญากรรม (2) การจัดหา ขาย หรือถ่ายโอนอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (3) การสรรหาสมาชิกหรือสนับสนุนการกระทำหรือกิจกรรมของกลุ่มดังกล่าว หรือกลุ่มอื่นๆ ที่แยกแตกสาขา หรือพัฒนาจากกลุ่มเหล่านี้ บุคคลและกลุ่มบุคคลนั้นจะต้องถูกจัดไว้ในบัญชีรายชื่อตามมาตรการลงโทษ กลุ่ม ISIL และ Al-Qaida (บัญชีรายชื่อฯ)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 20 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9738