ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 September 2022 00:16
- Hits: 2443
ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ท. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และผู้ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง กำหนดการให้ความช่วยเหลือในการถูกดำเนินคดีที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ท. กำหนดให้มีตำแหน่งหัวหน้าพนักงาน ป.ป.ท. กำหนดเหตุยกเว้นโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด กำหนดเหตุลดโทษและยกเว้นโทษกรณีผู้ถูกกล่าวหากระทำการโดยสุจริต และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และกำหนดความผิดและโทษเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ รายละเอียดดังนี้
1. แก้ไขปรับปรุงบทนิยาม เช่น คำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่” เพื่อรองรับคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการแทน “ประพฤติมิชอบ” เพื่อแยกคดีประพฤติมิชอบซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจโดยตรงของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ออกจากคดีทุจริตต่อหน้าที่ และ “ไต่สวน” เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
2. กำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ช. ไม่สามารถมอบหมายการเป็นกรรมการในคณะกรรมการ ป.ป.ท. ให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้ เพื่อให้การเป็นกรรมการเป็นการเฉพาะตัวและมอบอำนาจไม่ได้
3. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ท. (เดิมกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูง หรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าลงมา และกระทำการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งกระทำการทุจริตในภาครัฐ หมายถึงการกระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบในภาครัฐ) ดังนี้
3.1 ไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลตามพระราชบัญญัตินี้ และกำกับดูแลการไต่สวนเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบสำนวนการไต่สวนดังกล่าว
3.2 พิจารณาวินิจฉัยชี้มูลเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามสำนวนการไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ให้ความเห็นชอบแล้ว หรือสำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไต่สวนเอง
3.3 ไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่ต้องดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่มอบหมาย และในการไต่สวนดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ท. อาจมอบหมายให้พนักงาน ป.ป.ท. ดำเนินการไต่สวนแล้วเสนอสำนวนเพื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาต่อไป
3.4 ดำเนินการสรุปสำนวนตามข้อ 3.2 และข้อ 3.3 พร้อมทั้งความเห็นส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีอาญากับผู้กระทำความผิดต่อไป
4. กำหนดวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. (คดีทุจริตต่อหน้าที่) ให้ดำเนินการแต่ละกรณี ดังนี้
4.1 กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการแทนโดยกำหนดหลักเกณฑ์หรือลักษณะไว้เป็นการทั่วไป โดยเมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. ว่ามีผู้กระทำความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการต่อไปได้ และให้เริ่มนับระยะเวลาการไต่สวนและพิจารณาวินิจฉัยชี้มูลตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือวันที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้รับเรื่อง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติจะดำเนินการเรื่องนั้นเอง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ส่งเรื่องพร้อมทั้งสำนวนการไต่สวนเท่าที่มีอยู่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้คัดสำนวนดังกล่าวเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานด้วย
4.2 กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการแทนโดยกำหนดหลักเกณฑ์หรือลักษณะไว้เป็นรายกรณี เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้รับเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการแทน ให้เริ่มนับระยะเวลาการไต่สวนและพิจารณาวินิจฉัยชี้มูลตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ หากเรื่องดังกล่าวได้ล่วงพ้นเวลาที่จะดำเนินการทางวินัยและดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาแล้ว และไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ส่งเรื่องคืนคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเร็วซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
5. กำหนดวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับคดีประพฤติมิชอบ ดังนี้
5.1 กำหนดให้ในกรณีที่ปรากฏว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีลักษณะเป็นการทุจริตต่อหน้าที่รวมอยู่ด้วย และมิได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งเรื่องทั้งหมดนั้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
5.2 กำหนดให้ในกรณีที่เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ตามพระราชบัญญัตินี้ และมิใช่เป็นกรณีตามข้อ 5.1 เมื่อเลขาธิการสั่งให้ดำเนินการต่อไปแล้ว ให้พนักงาน ป.ป.ท. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ ป.ป.ท.
6. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ท. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ใดมิให้เปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลบรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ และแก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มอบหมาย สามารถดำเนินการ จับ ควบคุม และปล่อยชั่วคราว ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติวินิจฉัยชี้มูลว่าผู้นั้นกระทำความผิด
7. กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ท. ให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีไม่ว่าเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง แก่คณะกรรมการ ป.ป.ท. และผู้ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดให้กรรมการในคณะกรรมการ ป.ป.ท. สามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาได้ เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ได้
8. แก้ไขเพิ่มเติมชื่อหมวด 2 จากเดิม “การไต่สวนข้อเท็จจริง” เป็น “การไต่สวน” และปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการไต่สวน ดังนี้
8.1 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ต้องเริ่มดำเนินการไต่สวนภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. และต้องไต่สวนและพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับเรื่องหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ท. อาจขยายระยะเวลาการไต่สวนออกไปตามที่จำเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 3 ปี เว้นแต่เรื่องที่จำเป็นต้องไต่สวนในต่างประเทศอาจขยายระยะเวลาออกไปเท่าที่จำเป็นแต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 5 ปี
8.2 กำหนดให้ผู้ทำหน้าที่ไต่สวนก่อนเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มี 2 กรณี ได้แก่ (1) การไต่สวนของพนักงาน ป.ป.ท. ที่ดำเนินการในลักษณะองค์คณะๆ ไม่น้อยกว่า 2 คนตามที่เลขาธิการ ป.ป.ท. แต่งตั้ง โดยจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ด้วยก็ได้ และ (2) การไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน สำหรับเรื่องที่จำเป็นและซับซ้อน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ท. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการ ป.ป.ท. สำหรับการไต่สวนเบื้องต้นก่อนการรับเรื่องไว้พิจารณา เลขาธิการ ป.ป.ท. จะมอบหมายให้พนักงาน ป.ป.ท. คนหนึ่งดำเนินการก็ได้ นอกจากนี้ ได้กำหนดห้ามผู้มีส่วนได้เสียในคดีทำหน้าที่ในการไต่สวน เพื่อให้การไต่สวนของผู้ไต่สวนเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
8.3 กำหนดขั้นตอนและกระบวนการไต่สวน
8.3.1 กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการรับเรื่องและการจำหน่ายเรื่อง โดยกำหนดเรื่องที่ต้องห้ามรับไว้พิจารณา และเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีดุลยพินิจในการที่จะไม่รับหรือสั่งจำหน่ายเรื่อง และกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. สามารถยุติการดำเนินการไต่สวนในกรณีเรื่องที่ไม่ใช่ความผิดวินัยร้ายแรง หรือกรณีการประพฤติมิชอบที่ไม่ใช่ความผิดวินัยและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง โดยให้เลขาธิการส่งเรื่องที่ยุตินั้นให้หน่วยงานดำเนินการและรายงานผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ทราบ
8.3.2 กำหนดให้กรณีข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้แจ้งผู้ถูกกล่าวหาทราบไม่ช้ากว่า 15 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติ แต่หากกรณีที่ข้อกล่าวหานั้นมีพยานหลักฐานเพียงพอ ให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นหนังสือและส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ นอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีจัดหาทนายความให้กับผู้ถูกกล่าวหา และกำหนดรายการที่จำเป็นในหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้ถูกกล่าวหา
8.3.3 กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาส่งคำชี้แจงและพยานหลักฐานมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาประกอบการดำเนินการก่อนมีมติชี้มูลความผิด และกำหนดให้มีการสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ กำหนดห้ามจูงใจโดยมิชอบเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำในการไต่สวน รวมทั้งกำหนดวิธีการสอบปากคำและการรับฟังพยานหลักฐานจากต่างประเทศ เพื่อให้การไต่สวนเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
8.4 กำหนดวิธีการดำเนินการเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด
8.4.1 กำหนดให้ประธานกรรมการ ป.ป.ท. แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น และให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และให้ถือว่ามติและรายงานการไต่สวนนั้นเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ใช้บังคับกับผู้ถูกกล่าวหานั้น ทั้งนี้ ได้แยกการดำเนินการลงโทษทางวินัยไว้ 2 กรณี ได้แก่ กรณีประพฤติมิชอบและกรณีทุจริตต่อหน้าที่
8.4.2 กำหนดให้ในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนสามารถขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ทบทวนมติที่ชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ถูกกล่าวหาได้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากคณะกรมการ ป.ป.ท.
8.4.3 กำหนดให้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ได้ หาก ก.พ.ค. ยกอุทธรณ์ ให้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ ก.พ.ค. มีคำวินิจฉัย แต่หาก ก.พ.ค. วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ฟังขึ้นให้ส่งคำวินิจฉัยนั้นไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อพิจารณาทบทวน แล้วแจ้งผลการทบทวนไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการต่อไป ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษไม่เห็นด้วยกับผลการทบทวนดังกล่าวให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้
8.4.4 แก้ไขเพิ่มเติมกรณีที่การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดทางวินัย เป็นความผิดทางอาญาให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินคดี โดยให้ถือว่าการดำเนินการและสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นการสอบสวนและสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา สำหรับความผิดอันยอมความได้และหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. แจ้งให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในศาลทหาร ให้การดำเนินคดีอาญาเป็นหน้าที่และอำนาจของอัยการทหารและให้อำนาจอัยการสูงสุด เป็นอำนาจของเจ้ากรมพระธรรมนูญ
8.4.5 แก้ไขเพิ่มเติมกรณีการกระทำความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลนั้นก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นกรณีออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชดใช้ความเสียหายหรือพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิหรือสิทธิดังกล่าวแล้วแต่กรณีโดยเร็ว แล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ทราบ
9. กำหนดให้มีตำแหน่งหัวหน้าพนักงาน ป.ป.ท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไต่สวนเช่นเดียวกับหัวหน้าพนักงานไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. และกำหนดเหตุยกเว้นโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และได้มีการโต้แย้งการกระทำความผิดหรือได้แจ้งข้อมูลต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
10. กำหนดเหตุลดโทษและยกเว้นโทษ สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกชี้มูลว่ากระทำความผิด เมื่อเป็นการกระทำโดยสุจริตและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
11. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. กรรมการ อนุกรรมการไต่สวน พนักงาน ป.ป.ท. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ท. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ใดที่ได้เปิดเผยข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่การกระทำนั้นเป็นการฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท
12. กำหนดให้บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติที่ออกตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมหรือออกใหม่ เพื่อรองรับให้บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 13 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9538