ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 September 2022 00:06
- Hits: 2043
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า คณะกรรมการคดีพิเศษในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเสนอ ดังนี้
1. “ให้คง” คดีความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษ ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 จำนวน 3 ฉบับ ซึ่ง สคก. ได้ตรวจพิจารณาแล้วให้ยกเลิกคดีความผิดตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ประกอบด้วย
(1) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง
(2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา
(3) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร
เนื่องจากพบว่ามีการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ยา และอาหาร เป็นการกระทำความผิดที่เกิดโดยการปลอมผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีการนำวัตถุที่ต้องห้ามมาใช้เป็นส่วนผสม มีการใช้สถานที่ผลิตที่ไม่มีมาตรฐาน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลและใช้สื่อดิจิทัลในการกระทำความผิดในช่องทางต่างๆ อีกทั้งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยา และอาหารให้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล ทั้งในเรื่องการผลิต การนำเข้า หรือการขาย ส่งผลให้คดีความผิดในกลุ่มนี้มีจำนวนผู้เสียหายเป็นวงกว้าง และส่งผลให้การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น อาจเกิดอันตรายแก่ประชาชน มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศหรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ ลักษณะของการกระทำความผิดมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นพิเศษ
2. “ให้เพิ่มเติม” คดีความผิดทางอาญา จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย
(1) คดีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เนื่องจากคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายเรื่องการปราบปรามยาเสพติด และ ยธ. ได้มอบนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีบทบาทในการปราบปรามยาเสพติด และใช้มาตรการในการริบทรัพย์สินเครือข่ายการค้ายาเสพติดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
(2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เนื่องจากปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาอันนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมประเภทอื่นๆ โดยผู้ให้กู้ยืมเงินไม่ใช่สถาบันทางการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายและไม่มีการติดตามหรือควบคุมจากทางราชการ แต่มักเป็นองค์กรอาชญากรรมที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำ และมักใช้วิธีการทวงหนี้ ข่มขู่ บังคับ หรือใช้วิธีความรุนแรง บางครั้งอาจรวมกลุ่มกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จึงทำให้มีลักษณะการกระทำความผิดที่สลับซับซ้อน
(3) คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก เนื่องจากปัญหาสื่อลามกอนาจารเด็กที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ทำให้เด็กสามารถรับรู้ เข้าถึง และเผยแพร่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อันอาจส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง ทำให้เด็กถูกล่อลวงหรือชักจูงให้ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นอาชญากรรมต่อเด็กรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและมีพฤติการณ์ที่สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กมีส่วนสัมพันธ์กันกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในรูปแบบอื่น อาทิ การกระทำชำเรา การกระทำอนาจาร
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การกระทำความผิดในเรื่องยาเสพติด หนี้นอกระบบ และสื่อลามกอนาจารเด็ก ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม หรือผู้ทรงอิทธิพลสำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรืออาจมีพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ต้องสงสัย หรือมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิด จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นพิเศษ
3. “ให้ยกเลิก” คดีความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษที่ปรากฏในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เนื่องจากได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย
(1) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสุรา
(2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ
4. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 และกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 รวม 3 ฉบับ โดยปรับเพิ่มและยกเลิกคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ จากร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี (3 ธันวาคม 2562) โดยกำหนดให้คดีความผิดทางอาญาเป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมจากบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 รวม 20 ฉบับ ดังนี้
1. คงคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมาย รวม 3 ฉบับ เป็นคดีพิเศษ ได้แก่ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา และคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร
2. เพิ่มเติมคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมาย รวม 3 ฉบับ เป็นคดีพิเศษ ได้แก่ คดีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก
3. ยกเลิกคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมาย รวม 2 ฉบับ เป็นคดีพิเศษ ได้แก่ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสุรา และคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ
คดีความผิดอาญาตามกฎกระทรวงฯ ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 62) |
คดีความผิดอาญาตามร่างกฎกระทรวงฯ ที่ ยธ. เสนอ |
|
(1) คดีความผิดตามประมวลรัษฎากร (2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (3) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (4) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสุรา (5) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ (6) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (7) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (8) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (9) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ (10) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (11) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง (12) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย (13) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา (14) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร (15) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (16) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ (17) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ (18) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ (19) คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน |
(1) คดีความผิดตามประมวลรัษฎากร (2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (3) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต - ยกเลิก - - ยกเลิก - (4) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (5) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (6) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (7) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ (8) คดีความผิดตามกฎมหายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (9) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง (คงไว้) (10) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย (11) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา (คงไว้) (12) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร (คงไว้) (13) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้ายการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (14) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ (15) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ (16) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ (17) คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน (18) คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก (เพิ่มเติม) (19) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (เพิ่มเติม) (20) คดีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด (เพิ่มเติม) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 13 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9536