ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 เพื่อดำเนินโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหว
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 September 2022 23:11
- Hits: 1917
ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 เพื่อดำเนินโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2567 จำนวน 28,277,800 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 14,113,900 บาท สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะได้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า
1. เพื่อเป็นการหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2565 สศช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ให้ทำหน้าที่พัฒนาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับและถูกนำมาใช้เป็นกรอบในการวางแผนพัฒนาประเทศโดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสำหรับการจัดทำแผนพัฒนาด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 จำนวน 4 ครั้ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ ประกอบด้วย (1) กลุ่มภาครัฐและเอกชน (2) กลุ่มผู้ห่วงใยจะนะ (3) กลุ่มแนวร่วมการพัฒนา และ (4) กลุ่มนักวิชาการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสำคัญที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) สำหรับการจัดทำ SEA เช่น ความคาดหวังต่อการจัดทำแผนพัฒนา โดยใช้ SEA เป็นเครื่องมือ ประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ แผนพัฒนาที่ควรใช้ SEA ในการจัดทำพื้นที่ขอบเขตการศึกษา และระยะเวลาในการดำเนินการ ประเด็นอ่อนไหวหรือข้อพึงระวังในการดำเนินการ เกณฑ์การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเป็นคณะกรรมการกำกับงาน SEA เป็นต้น
2. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายกรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่างๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 โดย สศช. ได้จัดทำโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานีด้วยกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง) ของ สศช. ซึ่งจะส่งผลให้แผนมีความสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษา และมีกรอบวงเงินงบประมาณ 28,227,800 บาท
3. สำนักงบประมาณ (สงป.) ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งนายก รัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ สศช. ดำเนินโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ภายในกรอบวงเงิน 28,227,800 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 14,113,900 บาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 14,113,900 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 โดยให้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงานมากกว่า 1 ปี จึงขอให้ สศช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ตามนัยมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 13 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9529