กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 September 2022 23:08
- Hits: 1906
กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 กันยายน 2565 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รง. รายงานว่า
1. ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560คือ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
2. คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 77 คณะ เป็นองค์กรไตรภาคีเช่นเดียวกับคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อให้ทำหน้าที่เสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอของจังหวัด ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง
3. คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 โดยศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 และได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเทียบเคียงกับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธรัฐมาเลเซีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และสาธารณรัฐคอสตาริกา ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ยอมรับว่าเป็นสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างได้
4. การพิจารณาในครั้งนี้ได้ใช้สูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการคำนวณ คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 อัตราการสมทบของแรงงานต่อ GDP อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ และตัวแปรเชิงคุณภาพตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกของปี 2565 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.2 และเมื่อพิจารณาการครองชีพของลูกจ้าง พบว่า ราคาสินค้าที่จำเป็นในการครองชีพของผู้ใช้แรงงานมีราคาสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และก๊าซหุงต้ม ดังนั้น เพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานทั่วไปที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับได้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ได้มีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 8 - 22 บาท เป็นอัตราวันละ 328 - 354 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป และให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10)ฯ โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565 จำแนกเป็น 9 อัตรา ดังนี้
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565
ลำดับ |
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (บาทต่อวัน) |
จำนวน (จังหวัด) |
จังหวัด |
1 |
354 |
3 |
ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง |
2 |
353 |
6 |
กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร |
3 |
345 |
1 |
ฉะเชิงเทรา |
4 |
343 |
1 |
พระนครศรีอยุธยา |
5 |
340 |
14 |
กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี |
6 |
338 |
6 |
กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม |
7 |
335 |
19 |
กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์ |
8 |
332 |
22 |
กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี |
9 |
328 |
5 |
นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี |
ทั้งนี้ การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565 ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งผลการพิจารณาเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข โดยเชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป
5. คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ได้มีข้อเสนอเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนของค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ดังนี้
5.1 ควรมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า เช่น การยกเว้น/ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือกองทุนเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
5.2 กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ควรปรับราคากลางงานก่อสร้าง ให้สอดคล้องกับราคาวัสดุก่อสร้างและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 13 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9528