ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 September 2022 22:54
- Hits: 1969
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ปี 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (5) ที่บัญญัติให้ สศช. รายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2565 สรุปได้ ดังนี้
1.1 สถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 39 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะสาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และการขนส่ง/เก็บสินค้า ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคและการส่งออกขยายตัวได้ดี ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาก่อสร้างและสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว ส่วนภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานลดลงจากการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับไปทำงานในสาขาเดิม ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสสอง ปี 2565 ลดลงต่ำสุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.37 ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน
1.2 หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสหนึ่ง (เดือนมกราคม-มีนาคม) ปี 2565 ขยายตัวชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องเฝ้าระวังหนี้เสียโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงต้องติดตามผลกระทบจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะกระทบต่อลูกหนี้ โดยหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.65 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อน (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564) ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8 หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross domestic product: GDP) อยู่ที่ร้อยละ 89.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ ส่วนด้านความสามารถในการชำระหนี้ทรงตัว โดยมีสัดส่วนสินเชื่อของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.78 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) ผลกระทบของภาระค่าครองชีพที่อาจกดดันให้ครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น (2) อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบให้ต้องขอสินเชื่อใหม่ (3) คุณภาพสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนสินเชื่อ NPLs ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงของการเกิด NPLs ในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง และ (4) การส่งเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง การมีมาตรการแก้หนี้ที่เฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางและรายได้ยังไม่ฟื้นตัว และการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ส่งเสริมให้มีการก่อหนี้ใหม่ จะทำให้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต
1.3 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จาก 42,698 คน เป็น 64,304 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโรคที่มากับฤดูฝน นอกจากนี้ ต้องมีการติดตามการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งไม่เหมาะสมและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างทั่วถึง อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิดและกำชับประชาชชนให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลป้องกันตนเองจากโควิด-19
1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 โดยต้องติดตามและเฝ้าระวังผู้ดื่มรายใหม่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความหลากหลายทั้งปริมาณแอลกอฮอล์ รสชาติ กลิ่น ความสวยงามของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ดึงดูดกลุ่มเด็กและผู้หญิงมากขึ้น และมีการทำเนื้อหาเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยปัญหาสุราร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า มีการโพสต์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อออนไลน์ จำนวน 2,684 โพสต์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบการโฆษณาในช่องทางต่างๆ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
1.5 คดีอาญาโดยรวมลดลง โดยมีการรับแจ้งคดีอาญาทั้งสิ้น 108,299 คดี ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 22.3 มีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) การแก้ไขปัญหาแก๊งคอล เซ็นเตอร์และอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยอาชญากรรมที่ประชาชนถูกหลอกมากที่สุด คือ การซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า และ (2) การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ โดยควรเฝ้าระวังและให้สถานศึกษาและผู้ปกครองหมั่นให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์และสังเกตพฤติกรรมของเด็กเพื่อจะได้หาทางป้องกันได้อย่างรวดเร็ว
1.6 การเกิดอุบัติเหตุการจราจรทางบก มีจำนวน 18,418 ราย ลดลงร้อยละ 27.4 จาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2564 โดยมีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 16.3 ผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 35.8 ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจราจรจากบุคคลที่สูงที่สุด คือ การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด รองลงมา คือ การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123 บัญญัติให้ผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยหรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565) ดังนั้น จึงควรมีมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงที่นั่งนิรภัย เช่น โครงการคนละครึ่ง มาตรการลดต้นทุนผู้ขายหรือลดภาษีนำเข้า รวมถึงโครงการยืมคืนที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหมุนเวียนเพื่อใช้ในชุมชน
1.7 การรับเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยด้านที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ ด้านโฆษณา รองลงมาคือ ด้านขายตรง ด้านฉลาก และด้านสัญญา และการร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มขึ้น โดยเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเด็นการยกเลิกบริการมากที่สุด ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) คุณภาพและมาตรฐานของการให้บริการเกี่ยวกับการใช้บริการเสริมความงามซึ่งในปัจจุบันยังมีสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน และ (2) การกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA) เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจจึงทำให้เกิดความกังวลและสับสนเกี่ยวกับการกระทำที่เสี่ยงต่อการละเมิด PDPA
2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
2.1 รู้จักรู้ทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การดูแลสุขภาพเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและผู้คนให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และรูปร่างหน้าตามากขึ้นจึงเริ่มบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจข้อมูล พบว่า ประชาชนร้อยละ 70 มีความเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าคนไทยจะมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นแต่บางส่วนยังมีทัศนคติและความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่รอบด้าน ดังนั้น ประชาชนควรมีความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นเพียงการรับรองว่าวัตถุดิบและกระบวนการผลิตจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางประเภทมีโทษเนื่องจากสารประกอบบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค และ (3) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมากยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีแนวทางการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกซื้อและมีระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลได้สะดวกมากขึ้น
2.2 พฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่ในตลาด Cryptocurrency คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจลงทุนและหาผลตอบแทนจากมูลค่าที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้น โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์รายงานว่า ในปี 2564 มีมูลค่าการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 1.4 แสนล้านบาทต่อเดือนซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการลงทุนของคนไทย พบว่ามีประเด็นที่น่ากังวล ดังนี้ (1) ผู้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างผลกำไรสูงในเวลาที่รวดเร็ว (2) ผู้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีบางส่วนศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีน้อยและใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจลงทุน (3) คนรุ่นใหม่บางส่วนที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีลงทุนเพื่อความสนุก ความบันเทิง และการเข้าสังคม และ (4) นักลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศซึ่งไม่สามารถกำกับดูแลได้ และมีความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น (1) การไม่มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย (2) การไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน และ (3) ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีมีการหลอกลวงและการโกงหลายรูปแบบ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลงทุนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจตลอดจนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
2.3 การทำงานของผู้สูงอายุตอนต้น กลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญและประเด็นที่ต้องคำนึงถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรส่งผลให้ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือ การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงวัยจำนวนมากยังมีศักยภาพในการช่วยขับเคลื่อนประเทศและยังเป็นการชดเชยการขาดแคลนแรงงานได้ในบางส่วน โดยแนวทางการส่งเสริมการทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุ ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุตอนต้นทักษะสูงเป็นหลัก เนื่องจากยังมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานต่ำและยังมีจำนวนกำลังแรงงาน โดยจะต้องศึกษาความต้องการทำงานของคนกลุ่มนี้และมีมาตรการจูงใจที่จะส่งเสริมและดึงดูดให้แรงงานกลุ่มนี้กลับเข้ามาทำงาน ส่วนผู้สูงอายุต้อนต้นทักษะต่ำซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับรายได้ จำเป็นต้องมีมาตรการด้านรายได้เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานที่มีรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น
3. บทความเรื่อง “วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน” ประชากรจำนวน 193 ล้านคนใน 53 ประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารซึ่งมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดภัยพิบัติ การขาดแคลนน้ำ และการระบาดของโรคอุบัติใหม่ต่างๆ โดยข้อมูลของ Global Food Security Index (GFSI) ระบุว่า ในปี 2564 ไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 113 ประเทศทั่วโลกซึ่งอยู่ในระดับที่สูง สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี แต่หากพิจารณาความมั่นคงทางอาหารตามนิยามขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ยังมีประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ ดังนี้ (1) การมีอาหารเพียงพอ โดยไทยมีความมั่นคงทางอาหารในเชิงปริมาณที่เพียงพอแต่ยังมีประเด็นด้านความยั่งยืนของปริมาณอาหารระยะยาว เนื่องจากไทยนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารเป็นมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งหากมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารได้ (2) การเข้าถึงอาหาร ในปี 2563 ไทยมีผู้ขาดสารอาหารร้อยละ 8.8 ของประชากรทั้งหมดหรือคิดเป็นจำนวน 6.2 ล้านคน เนื่องจากครัวเรือนมีรายได้น้อยและมีปัญหาการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าและความปลอดภัย (3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร คนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สอดรับกับการมีโภชนาการที่ดี ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอรวมทั้งการสร้างขยะอาหารยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และ (4) การมีเสถียรภาพด้านอาหารหรือการเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ โดยไทยไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนอาหารอย่างกะทันหัน เนื่องจากมีการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอาหารและน้ำในช่วงวิกฤต ต่างๆ โดยให้ชุมชนมีบทบาทในการผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือนและชุมชน อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือเปราะบางมีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับความไม่มั่นคงทางอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอาหาร การสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารให้เป็นมาตรฐานเดียว การปรับปรุงและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านสินค้าเกษตรและอาหาร การสร้างระบบการบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารในภาวะวิกฤตและการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารระดับครัวเรือนและชุมชน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 13 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9526