รายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560-2564 ประจำปี พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 September 2022 22:49
- Hits: 1937
รายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560-2564 ประจำปี พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560-2564 ประจำปี พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (15 พฤศจิกายน 2559) ที่กำหนดให้ กค. ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี ปีละครั้ง] โดยแผนพัฒนาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการเงิน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้ใช้บริการทางการเงิน ด้านผู้ให้บริการทางการเงิน และด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 6 กลยุทธ์ 20 มาตรการ 39 กิจกรรม และ 78 โครงการ โดยมีผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาฯ ประจำปี 2564 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 สรุปได้ ดังนี้
1. ภาพรวมการดำเนินโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาฯ สำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัดจำนวนทั้งสิ้น 74 โครงการ จาก 78 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ตั้งเป้าหมายให้ดำเนินการแล้วเสร็จในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 จำนวน 60 โครงการ และโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2564 จำนวน 14 โครงการ โดยโครงการส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเกินกว่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ สรุปได้ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ |
กลยุทธ์ |
ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงาน (เช่น) |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพด้านการเงินของประชาชนระดับฐานราก |
(1) เพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนระดับฐานราก |
สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในระดับฐานรากที่เป็นหนี้นอกระบบ จำนวน 114,516.92 ล้านบาท |
||
|
(2) ลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน |
1) ให้สินเชื่อแก่เกษตรกร จำนวน 9,484.84 ล้านบาท และให้เงินชดเชยดอกเบี้ยแก่สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรแทนสมาชิก จำนวน 4,917 ราย เป็นเงิน 9.94 ล้านบาท 2) ปรับโครงสร้างหนี้และให้สินเชื่อแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยจำนวน 28,015.17 ล้านบาท รวมถึงขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้เกษตรกรจำนวน 2,410,308 ราย วงเงิน 669,121.49 ล้านบาท |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง |
(1) สร้างความเข้มแข็งขององค์กรการเงินชุมชนให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างยั่งยืน |
จัดตั้งและพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน จำนวน 3,138 แห่ง สามารถบริหารจัดการหนี้ให้กับครัวเรือน จำนวน 5,083 ครัวเรือน เป็นเงิน 232,603,765 บาท |
||
(2) สนับสนุนให้สถาบันการเงินในระบบขยายบทบาทเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น |
พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อให้ประชาชนในระดับฐานรากสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 1,837,922 ราย วงเงิน 31,157.63 ล้านบาท |
|||
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน(Financial Infrastructure) ให้เหมาะสมต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน |
(1) พัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน |
พัฒนากฎหมาย กฎระเบียบและหลักเกณฑ์เพื่อให้รองรับและเอื้อต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น |
||
(2) พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินภาคประชาชน |
จัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเงินภาคประชาชนเพื่อให้รองรับการดำเนินงานเชิงนโยบาย |
2. ผลการดำเนินโครงการที่ตั้งเป้าหมายการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 มีจำนวนทั้งหมด 12 โครงการ โดยมีโครงการที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัด จำนวน 9 โครงการ ครอบคลุม 7 ประเภทกิจกรรม สรุปได้ดังนี้
ประเภทกิจกรรม |
ผลการดำเนินงาน |
|
(1) สินเชื่อองค์กรชุมชนของธนาคารออมสิน |
ยอดสะสมการให้สินเชื่อองค์กรชุมชนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ จำนวนมากกว่า 1.69 หมื่นล้านบาท เกินกว่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ (จำนวน 9 พันล้านบาท) |
|
(2) พัฒนาเกษตรกรลูกค้าโครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกร |
มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวนมากกว่า 2.41 ล้านราย เกินกว่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ (จำนวน 1.80 ล้านราย) |
|
(3) จัดอบรม/สัมมนาเพื่อให้ความรู้ทางการเงินและสร้างทักษะการบริหารจัดการทางการเงินให้ประชาชนและคนในชุมชนของธนาคารออมสิน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) |
จัดอบรม/สัมมนาเกี่ยวกับการเงินการลงทุนผ่านสื่อออนไลน์และการอบรมนอกสถานที่ให้กับกลุ่มเป้าหมาย จำนวนมากกว่า 9 หมื่นราย |
|
(4) ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์สาธิตการตลาดของกรมการพัฒนาชุมชน |
ยกระดับเป็นศูนย์สาธิตการตลาดต้นแบบตามเป้าหมายแล้ว จำนวน 42 แห่ง |
|
(5) เพิ่มบริการทางการเงินผ่านเครือข่ายทางการเงินและสถาบันการเงินอื่น ของ ธ.ก.ส. เพื่อสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้ครอบคลุมประชาชนระดับฐานรากมากขึ้น |
เพิ่มช่องทางการให้บริการทางการเงินจำนวนมากกว่า 1,600 แห่ง เกินกว่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ (จำนวน 1,500 แห่ง) |
|
(6) เงินฝากสงเคราะห์ชีวิตของ ธ.ก.ส. เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงหลักประกันเงินฝากสงเคราะห์ชีวิต |
มีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับกับประชาชนผู้มีรายได้นอยจำนวนมากกว่า 2.89 ล้านกรมธรรม์ เกินกว่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ (จำนวน 1.92 ล้านกรมธรรม์) |
|
(7) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารด้านข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานและธุรกรรมการเงินและประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ |
จัดทำและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารด้านข้อมูลการเงินของสหกรณ์และได้จัดอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้งานระบบดังกล่าวเพื่อเตรียมพร้อมการใช้งานจริง |
ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการภายใต้แผนพัฒนาฯ ยังคงดำเนินโครงการต่างๆ ต่อไป โดยเป็นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหลายหน่วยงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บท และแผนปฏิรูปประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
3. โครงการที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่เป้าหมายตัวชี้วัดกำหนดไว้ จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการในปี 2562 จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร (กรมส่งเสริมสหกรณ์) เนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณล่าช้า1 และโครงการในปี 2564 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) (2) โครงการพัฒนาเครือข่ายสถาบันการเงินชุมชน/องค์กรการเงินชุมชน (กรมการพัฒนาชุมชน) และ (3) โครงการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบริหารจัดการหนี้ “สำนึกดี แผนดี บริหารหนี้ได้” (กรมการพัฒนาชุมชน) เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงาน ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมของทั้ง 3 โครงการ ลดลง2
_____________________
1จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 กค. แจ้งว่า โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรได้ยุติการดำเนินการแล้วเนื่องจากได้รับงบประมาณล่าช้า ส่งผลให้สมาชิก/กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายเข้าร่วมในโครงการอื่นๆ ทดแทน
2ทั้ง 3 โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลง กค. แจ้งว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการจะมีการดำเนินการตามเป้าหมายตัวชี้วัดให้แล้วเสร็จ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 13 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9525