ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 September 2022 00:01
- Hits: 2862
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ ทส. รับความเห็นขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรม ราชูปภัมถ์ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 4 บัญญัติบทนิยามคำว่า “สัตว์ป่าสงวน” หมายความว่า สัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด และ บทนิยามคำว่า “สัตว์ป่าคุ้มครอง” หมายความว่า สัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากรของ สัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ประกอบกับ มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้กรณีที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเห็นว่าสัตว์ป่าชนิดใดสมควรกำหนดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสัตว์ป่าสงวนท้ายพระราชบัญญัตินี้ มี 4 จำพวก รวม 19 ชนิด ได้แก่ (1) สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระซู่ กวางผา (2) สัตว์ป่าจำพวกนก เช่น นกกระเรียน (3) สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่ามะเฟือง (4) สัตว์ป่าจำพวกปลา เช่น ปลาฉลามวาฬ เป็นต้น
2. นกชนหิน (Rhinoplax vigil) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 410 ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 แต่โดยที่ปัจจุบันนกชนหินมีจำนวนในสภาพธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมาก (ประมาณไม่เกิน 100 ตัว) และมีปัจจัยคุกคามสูง อีกทั้งนกชนหินมีโหนกที่ตันและสวยงามเหมือนลักษณะของงาช้างทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่า ส่งผลให้เกิดการลักลอบล่านกชนหินอย่างมากจนกระทั่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง แม้จะได้กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้วก็ตาม ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับ การคุ้มครองทางกฎหมายที่เข้มงวดและเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับนานาชาติ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้นกชนหิน (Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน
4. ทส. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. .... เพื่อกำหนดให้นกชนหิน (Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน เพิ่มเติม
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้นกชนหิน (Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน เพิ่มเติม ดังนี้
ลำดับที่ |
สัตว์ป่าสงวน (ตาม พ.ร.บ.) |
สัตว์ป่าสงวน (ตาม ร่าง พ.ร.ฎ.) |
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9. 10. 11. 12. 13. 14.
1. 2. 3. |
สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กระซู่ (Didermocerus sumatraensis) กวางผา (Naemorhedus griseus) กูปรีหรือโคไพร (Bos sauveli) เก้งหม้อ (Muntiacus feae) ควายป่า (Bubalus bubalis) พะยูนหรือหมูน้ำ (Dugong dugon) แมวลายหินอ่อน (Pardofelis marmorata) แรด (Rhinoceros sondaicus) ละองหรือละมั่ง (Cervus eldi) เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ (Capricornis sumatraensis) วาฬบรูด้า (Balaenoptera sdeni) วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai) สมเสร็จ (Tapirus indicus) สมันหรือเนื้อสมัน (Cervus schomburgki) สัตว์ป่าจำพวกนก นกกระเรียน (Grus antigone) นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae) นกแต้วแล้วท้องดำ (Pitta gurneyi) |
|
4. | - | นกชนหิน (Rhinoplax vigil) |
1.
1. |
สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) สัตว์ป่าจำพวกปลา ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9276