ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 23:51
- Hits: 2896
ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจรและจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นโดยเฉพาะต่างหากจากคดีอาณาทั่วไป โดยกำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจรซึ่งจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดขั้นตอนดำเนินงานเป็นการเฉพาะสำหรับคดีจราจรโดยให้พนักงานสอบสวนออกใบนัดให้ผู้กระทำความผิดคดีจราจรไปศาล และกำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดคดีจราจรนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ รายละเอียดดังนี้
1. กำหนดให้จัดตั้งและเปิดทำการแผนกคดีจราจรขึ้นในศาลแขวงในกรุงเทพมหานคร ศาลแขวงนครปฐม ศาลแขวงนนทบุรี และศาลแขวงสมุทรปราการ ส่วนศาลแขวงในจังหวัดอื่นและศาลจังหวัดสำหรับท้องที่ที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ให้จัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นในศาลดังกล่าวทุกศาล แต่จะเปิดทำการเมื่อใดให้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม
2. กำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจร ดังนี้
2.1 คดีความผิดตามมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กล่าวคือ คดีขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ คดีขับรถเมื่อใบอนุญาตขับรถสิ้นอายุ และคดีขับรถระหว่างถูกสั่งพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และคดีความผิดตามมาตรา 16 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง มาตรา 22 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 และมาตรา 67 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กล่าวคือ คดีไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการขับขี่ของรถบรรทุกของเหลวไวไฟ ก๊าซไวไฟ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายชนิดอื่นใด คดีไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร คดีการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นและคดีขับรถด้วยความเร็วที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
2.2 คดีความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าปรับ แต่ไม่ให้รวมถึงในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
2.3 คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกนอกจากที่ระบุไว้ในข้อ 2.2 เช่น คดีความผิดขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นต้น
3. กำหนดให้แผนกคดีจราจรเปิดทำการนอกเวลาราชการและนำวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในคดีจราจร ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
4. กำหนดให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้และข้อบังคับดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติ ตามพระราชบัญญัตินี้
5. กำหนดขั้นตอนดำเนินงานเป็นการเฉพาะสำหรับคดีจราจร โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
5.1 กรณีคดีความผิดตามข้อ 2.1 ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ผู้นั้นไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป
5.2 กรณีคดีความผิดตามข้อ 2.2 หากผู้ฝ่าฝืนแจ้งว่าตนไม่ได้กระทำความผิด ไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ หรือไม่ประสงค์ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ โดยไม่ปรากฏหลักฐานโดยชัดแจ้งว่าไม่มีเหตุ ตามกฎหมายที่จะออกใบสั่ง ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป
5.3 กรณีคดีความผิดตามข้อ 2.3 ให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แล้วแต่กรณี โดยศาลสามารถนำมาตรการตามข้อ 5.8 มาใช้ในคดีได้
5.4 กำหนดให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ไปศาลตามข้อ 5.1 และ 5.2 พร้อมพยานหลักฐานไปยังศาลภายในสามวันนับแต่วันที่ออกใบนัด โดยให้พนักงานอัยการลงชื่อในคู่ฉบับใบนัดนั้น และให้ถือว่าคู่ฉบับดังกล่าวเป็นคำฟ้องโดยไม่ต้องทำการสอบสวน โดยในกรณีที่ผู้ต้องหาตามใบนัดดังกล่าวยินยอมชำระค่าปรับในอัตราที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบก่อนวันที่ระบุให้ไปศาล ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน
5.5 กำหนดให้ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องแล้ว หากจำเลยไม่มาศาลตามวันและเวลาที่ระบุในใบนัด ให้ศาลมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้ไม่เกิน 90 วัน
5.6 กำหนดให้ในกรณีที่จำเลยมาศาล หากจำเลยให้การรับสารภาพศาลจะพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานต่อไปก็ได้ แต่ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การหรือให้การปฏิเสธให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏเพียงพอที่จะพิพากษาคดีไปทันทีหรือไม่ หากเพียงพอก็ให้ศาลพิพากษาคดีทันที แต่ถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้ศาลกำหนดนัดพิจารณาเพื่อสืบพยานต่อไป
5.7 กำหนดให้ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ถ้าโจทก์หรือพยานโจทก์มาศาล ก็ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ถ้าโจทก์และพยานโจทก์ไม่มาศาล ก็ให้ศาลยกฟ้องเว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์และพยานโจทก์มาศาลไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ โดยในกรณีที่ยกฟ้อง ถ้าโจทก์มาร้องภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลยกฟ้องโดยแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรที่มาศาลไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นพิจารณาใหม่
5.8 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการลงโทษแก่จำเลยซึ่งมีความผิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น ยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางหรือตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย ให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้านการจราจร เป็นต้น
5.9 กำหนดห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่เป็นคดีจราจรตามข้อ 2.3 และกรณีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่หรือมีคำสั่งให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
6. กำหนดบทเฉพาะกาลให้บรรดาคดีจราจรที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดในวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ ให้ศาลซึ่งคดีนั้นค้างพิจารณาอยู่คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมาใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9274