โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม : เมืองเก่าสงขลา (Culture Smart City : Songkhla Old Town)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 23:25
- Hits: 2928
โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม : เมืองเก่าสงขลา (Culture Smart City : Songkhla Old Town)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม : เมืองเก่าสงขลา (Culture Smart City : Songkhla Old Town) (โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ) ในนามรัฐบาล ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ โดยวงเงินงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ ปี พ.ศ. 2565 – 2570 เป็นจำนวนเงิน 60 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นลำดับแรกก่อน หากไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก็ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เท่าที่จำเป็นเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อๆ ไป เห็นควรให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ. รายงานว่า
1. วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (กรมส่งเสริมฯ) มีภารกิจหลักที่สำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาต่อยอดและเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยสู่ระดับนานาชาติ เพื่อผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วน และเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ดังนั้น การนำทุนทางวัฒนธรรม1 ที่เป็นต้นทุนสำคัญ คือ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage : ICH) มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 ด้าน หรือ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวิดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยและการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นและของดีของประเทศไทยให้ไปสู่ระดับโลก โดยเฉพาะบทบาทสำคัญของกระบวนการ Soft Power ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านภารกิจการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นต้นทุนแก่คนไทย เช่น การพลิกฟื้นย่านเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
2. วธ. (กรมส่งเสริมฯ) ได้เห็นความสำคัญในการฟื้นฟูฐานด้านความมั่นคงของชุมชน ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมงานวัฒนธรรม เชิงพื้นที่ จังหวัดสงขลา โดยพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม (Culture Smart City) เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เป็นเมืองต้นแบบในการทำกิจกรรมและพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย โดยเห็นว่าย่านเมืองเก่าและบริบทโดยรวมของเมืองสงขลา มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน จากองค์ประกอบหลักของเมืองสงขลาไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน ชุมชน อาคารบ้านเรือนทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ ถนน ตรอก ซอก ซอย รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยังคงมีกลิ่นอายของชุมชนที่เหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ย่านการค้าสมัยโบราณที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางกายภาพและเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นับเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาเมืองสงขลาให้เป็นเมืองต้นแบบด้านวัฒนธรรมที่สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเมืองและชุมชนในอนาคตได้
3. ที่ผ่านมา วธ. (กรมส่งเสริมฯ) ได้ร่วมกับมูลนิธิเมืองเก่าสงขลาและภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดสงขลา (ตามที่ระบุในข้อ 5) ดำเนินการขับเคลื่อนงานทางด้านวัฒนธรรมเพื่อกระตุ้น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาทิ
3.1 การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และรักบ้านเกิดย่านเมืองเก่าสงขลา
3.2 งานมหกรรมศิลปะนานาชาติ สงขลา (New Gen Connected Art Fest) เป็นการจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะในสถานที่ทรงคุณค่า โดดเด่น ในพื้นที่ของชุมชนเมืองเก่าสงขลา
3.3 การเปิดตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในจังหวัดและชุมชน
3.4 การจัดงานมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “สาระศิลป์ถิ่นสงขลา” เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น อาหารไทยท้องถิ่น นำมาพัฒนาต่อยอดสู่อาหารฟิวชั่น (Fushion Food)
3.5 การจัดงานศิลป์สุวรรณภูมิ (Silp Suvarnabhumi & The Maritime Silk Road) เพื่อให้คนในท้องถิ่นเกิดความรู้ความเข้าใจในรากเหง้าของตนเอง และตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
3.6 การจัดงานเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนโนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพื่อสร้างการรับรู้และการพัฒนาต่อยอดมรดก ภูมิปัญญาศิลปะการแสดงโนรา
3.7 การจัดงานมรดกโนรา (SPIRIT OF NORA) “โนรา” ศิลปะการแสดงไร้พรมแดน กรีดกรายร่ายรำให้โลกจำ “The Ultimate Performance Art of NORA Deliberate Dance to Remember” ณ สงขลาพาวิเลียน เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เนื่องในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยเบียนนาเล่ ผ่านนิทรรศการ Spirit of NORA: Intangible Cultural Heritage of Thailand
3.8 การพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ “Treasure Thailand” สำหรับบริการนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ
4. จากดำเนินกิจกรรมข้างต้นพบว่า มีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาเป็นจำนวนมาก และยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศในพื้นที่ทวีปยุโรปและเอเชียเพิ่มมากขึ้น เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวและช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
5. วธ. (กรมส่งเสริมฯ) จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ เพื่อสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ ผลักดัน Soft Power อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และทำให้วัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ และสร้างให้เกิดเครือข่ายเป็นพลังในการขับเคลื่อน รวมทั้งผลักดันให้ “เมืองสงขลาเป็นเมือง Culture Smart City” ในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
วัตถุประสงค์ |
1. เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ในพระราชกรณียกิจที่ทรงมีคุณูปการและเป็นอัครา ภิรักษศิลปินที่ส่งเสริมงานด้านประเพณีและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติเป็นที่ประจักษ์ 2. เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และ Soft Power ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของท้องถิ่น นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 3. เพื่อผลักดันให้ “เมืองสงขลาเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ภายในพื้นที่ โดยการนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว เกิดเป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นและประเทศชาติได้ 4. เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนมีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม กิจกรรมการแสดงและบริการทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการปลุกจิตสำนึกร่วมของคนในชุมชน 5. สร้างพลังการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และ ภาคประชาชน 6. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สาธารณชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา 7. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการดำเนินกิจการร้านค้า ศิลปินพื้นบ้านรวมถึงเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
รูปแบบ/ แนวทางการจัดกิจกรรม |
กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมตามรอยประวัติศาสตร์ศิลป์สุวรรณภูมิ สงขลาเมืองเก่าสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม ชมย่านเมืองเก่า สัมผัสวิถีชีวิตไทย จีน และมลายู ประกอบด้วย (1) เส้นทางอาหารถิ่นบนถนนนางงาม (2) เส้นทางสถาปัตยกรรมของย่านเมืองเก่าสงขลา (3) เส้นทางศิลปะการแสดง และ (4) เส้นทางแหล่งเรียนรู้มีชีวิต บ้านในกำแพงแหลมสน ชุมชนตำบลหัวเขา แผ่นดินพ่อค้าชาวจีนฟื้นฟูเมือง กิจกรรมที่ 2 การจัดงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ “เชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่น New Gen Connected Art and Culture festival” ย่านเมืองเก่าสงขลา รวมถึงการสร้างเวทีศิลปวัฒนธรรมระดับนานาชาติ นิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ โดยใช้อาคาร ร้านค้า หอศิลป์ พื้นที่สาธารณะบริเวณย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นพื้นที่จัดแสดงสาธิตการสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ประกอบด้วย (1) กิจกรรม Street Food (2) กิจกรรม Thai Show (3) กิจกรรม Street Show และ (4) กิจกรรม Street Craft กิจกรรมที่ 3 การจัดงานมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) กับการมีส่วนร่วมของเครือข่ายวัฒนธรรมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีจุดเน้นกิจกรรมทางวัฒนธรรมของภาคใต้ ยกระดับการสร้างความรู้ความเข้าใจสู่การพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศ กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมส่งเสริม Soft Power ในระดับนานาชาติ ณ Songkhla Pavilion นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เพื่อส่งเสริมในการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันเป็นวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ท้องถิ่นของประเทศไทยได้เผยแพร่สู่สายตาชาวโลก กิจกรรมที่ 5 การพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ “Treasure Thailand” รูปแบบของการให้บริการออนไลน์ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยเฉพาะ Metaverse2 เที่ยวทิพย์ผ่านโลกเสมือนจริง ระบบ 3 มิติ ในรูปแบบ VR (VR: Virtual Reality คือ การจำลองภาพให้เสมือนจริงแบบ 360 องศา โดยอาจต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่างแว่นตา VR เพื่อจำลองการรับรู้ การมองเห็น และการได้ยินเสียงในโลกเสมือนจริง เช่น จำลองการกระโดดร่ม, การขับเครื่องบิน, การเล่นเกมแนวต่อสู้ เป็นต้น) มีตัวละครในวรรณคดีของประเทศไทย พาชม พาชิม สร้างแรงจูงใจ ในการท่องเที่ยว ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย Soft Power กิจกรรมที่ 6 การประชาสัมพันธ์กิจกรรมและการบริหารจัดการอื่นๆ ได้แก่ การบันทึกภาพระบบ HD การตัดต่อภาพเคลื่อนไหว (วีดิทัศน์) และการจัดทำรายการสถานีวัฒนธรรมสัญจร |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
แผนการดำเนินงาน |
แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ แผนระยะสั้น: วงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีการจัดกิจกรรม ดังนี้
แผนระยะยาว : วงเงิน 50 ล้านบาท (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อผลักดันให้ “เมืองสงขลาสู่เมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม” ในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
หน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ |
วธ. (กรมส่งเสริมฯ) ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา สภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย มูลนิธิเมืองเก่าสงขลา หอศิลป์สงขลา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา พาวิเลียน (Songkhla Pavilion) สถาบันธัชชา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวัฒนธรรมไทยในสาธารณรัฐอิตาลี แห่งเมืองเวนิส และศิลปินพื้นถิ่น ตลอดจนผู้ประกอบการร้านค้าและธุรกิจโรงแรม |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
เชิงคุณภาพ 1. การผลักดันให้เมืองสงขลาเป็น “เมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม” ในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2. การเปิดพื้นที่/เพิ่มช่องทางให้ประชาชนมีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม มีกิจกรรมการแสดงและบริการทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการปลุกจิตสำนึกร่วมของคนในชุมชนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) 3. เป็นการสร้างความสามัคคี และการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน 4. เป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินกิจการร้านค้า ศิลปินพื้นบ้าน รวมถึงเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ 5. ประชาชนมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น 6. เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชุมชน 7. ได้มีการยกระดับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรมดิจิทัลให้เป็นฐานข้อมูลออนไลน์ ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบนระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ เชิงปริมาณ 1. ผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมเข้าร่วมสาธิตและจำหน่ายสินค้ากว่า 500 ร้านค้า 2. รายได้ของจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี 3. ศิลปินพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงกว่า 1,500 คณะ มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี 4. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กว่า 1 ล้านคนและเพิ่มจำนวนขึ้นร้อยละ 20 ในทุกๆ ปี 5. เกิดรายได้หมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท และเพิ่มจำนวนขึ้นร้อยละ 30 ใน ทุกๆ ปี |
6. วธ. แจ้งว่า โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ ผลักดัน Soft Power อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งทำให้วัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ สร้างให้เกิดเครือข่ายเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดำเนินการเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจต่อไป
_____________________
1ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) หมายถึง ผลผลิตทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เช่น โบราณสถาน มรดกทางวัฒนธรรม ผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งภาพวาด หัตถกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรม เหล่านี้มักจะวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ส่วนทุนวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ ความเชื่อ จารีต ประเพณี วิถีชีวิต
2Metaverse เป็นแอปพลิเคชันแบบใหม่ ที่มีการประสานกันของเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย โดยเปิดให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่สมจริงจาก reality technology ที่สร้างภาพสะท้อนของความเป็นจริงโดยอิงจาก digital twin technology สร้างระบบเศรษฐกิจจากเทคโนโลยี block chain และเชื่อมต่อโลกเสมือนกับโลกแห่งความเป็นจริงเข้าด้วยกัน บนระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบอัตลักษณ์ โดยอนุญาตให้ผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ และปรับแต่งโลกเสมือนได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9268