สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 15 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564-30 มิถุนายน 2565)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 23:16
- Hits: 2876
สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 15 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564-30 มิถุนายน 2565)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 15 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564-30 มิถุนายน 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. นโยบายหลัก 9 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายหลัก |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ |
1.1) ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “Giving Light มอบแว่นตา มอบแสงแห่งชีวิต” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ที่ประสบปัญหาทางสายตาได้เข้ารับบริการตรวจวัดสายตาประกอบแว่นตาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1,200 คน 1.2) น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีครัวเรือนปลูกผักอย่างน้อย 10 ชนิด 9,757,250 ครัวเรือน เลี้ยงสัตว์/ประมง 3,345,957 ครัวเรือน |
|
2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศและความสงบสุขของประเทศ |
2.1) จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายผ่านชายแดนทางบก ในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 324 ครั้ง ผู้ต้องหา 3,478 คน 2.2) จัดกิจกรรมสร้างความสุขและผ่อนคลาย เสริมสร้างความสามัคคีและการมีส่วนร่วมของคนในชาติด้วยรูปแบบการใช้สื่อผสม ในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนในช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ 135 ครั้ง มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมฯ 32,490 คน |
|
3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม |
3.1) รับมอบโบราณวัตถุ “ครอบพระเศียรทองคำ” มูลค่า 1 ล้านบาท กลับคืนสู่ประเทศไทย และโบราณวัตถุชิ้นเอกและหนังสือบัญชีโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ 164 รายการ มูลค่า 82 ล้านบาท โดยได้นำไปจัดแสดงนิทรรศการถาวร ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเผยแพร่ต่อไป 3.2) ประกาศยกย่อง “พระยาศรีสุนทรโวหาร” (น้อย อาจารยางกูร) เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ประจำปี 2565 เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี ชาตกาลในปี 2565 3.3) ยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ เช่น งานประเพณีสืบสานวัฒนธรรมสี่เผ่าไทศรีสะเกษในงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษประจำปี 2565 ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการจำหน่ายผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 2.9 ล้านบาท และจากการจำหน่ายทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ผลไม้ต่างๆ และเครื่องจักรกลทางการเกษตรรวมกว่า 30 ล้านบาท และงานมหกรรมวันสุนทรภู่ กวีเอกของโลก จังหวัดระยอง ประจำปี 2565 มีผู้เข้าร่วมงาน 60,000 คน และสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการ 16.84 ล้านบาท |
|
4) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก |
4.1) เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีประเด็นหารือความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สนับสนุนโครงการก่อสร้างสะพานเชียงแมน-หลวงพระบาง และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามแดนและความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ 4.2) สานต่อความร่วมมือไทย-ไนจีเรีย ผลักดันอุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นายโอวีคูโรมา โอโรกุน เจบะฮ์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยมีการหารือความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจ การขยายช่องทางการค้าและเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกัน และการส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และการเกษตร 4.3) ประชุมกรอบความร่วมมือ BRICS Plus (BRICS Plus High-level Dialogue on Global Development) ครั้งที่ 14 มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันระบบพหุภาคีให้มีความสมดุลในทุกมิติ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ เกี่ยวกับแนวคิดสำคัญที่จะให้เกิดความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ เช่น การพลิกฟื้นระบบพหุภาคีให้มีความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับความท้าทายอุบัติใหม่และผลักดันการปฏิรูประบบพหุภาคีและปรับกระบวนทัศน์ใหม่ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วน เพื่อการพัฒนาระดับโลกในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 4.4) เพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐคอซอวอเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในโอกาสเดินทางเยือนไทย โดยได้มีการหารือความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินค้าฮาลาล ผลักดันการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมระหว่างกัน และส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ (เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน) 4.5) ประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 110 ได้มีการนำเสนอตัวอย่างการรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 เช่น มาตรการรักษาการจ้างงานสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการดำเนินโครงการ Factory Sand Box ซึ่งช่วยรักษาการจ้างงานได้มากกว่า 400,000 ตำแหน่ง |
|
5) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย |
5.1) เศรษฐกิจมหภาค การเงินและการคลัง เช่น “พาณิชย์” ร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเพิ่มทางเลือกให้ธุรกิจไทยในการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาด สหราชอาณาจักร โดยสินค้าที่ได้รับให้ความสนใจ เช่น ข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรส ไก่แปรรูป และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง คาดมูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปี 4,600 ล้านบาท 5.2) พัฒนาภาคอุตสาหกรรม เช่น ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรและพืชผักสวนครัวในนิคมสร้างตนเองในพื้นที่ 1,298 ไร่ มีผลผลิตโดยรวมประมาณ 600-1,200 กิโลกรัม สร้างรายได้ขั้นต่ำ 500 บาทต่อเดือนต่อคน และส่งเสริมปลูกไม้มีค่าและไม้ยืนต้น 10,129 ต้น คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยขั้นต่ำต้นละ 1,000-10,000 บาท 5.3) พัฒนาภาคเกษตร เช่น สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเครือรัฐออสเตรเลีย ในโอกาสครบรอบ 70 ปี พร้อมผลักดันการเปิดสินค้าเกษตรคุณภาพ และจัดกิจกรรม “ประกวดเส้นไหม ผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากหม่อน และส่งเสริมตลาดผ้าไหม ประจำปี 2565” ภายใต้งาน “เทิดไท้ 90 พรรษา พระมารดาแห่งไหมไทย” 5.4) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว เช่น กิจกรรม “Meet & Greet Thailand Moving Together กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทย เข้าสู่ระยะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 5.5) พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น เปิดท่าเรือท่าช้าง-สาทรเป็น SMART PIER SMART CONNECTION เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ 5.6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ เช่น การจัดงานสัมมนาและนิทรรศการ “Thailand 5G Summit 2022” ภายใต้แนวคิด The 5G Leader in the Region เพื่อผลักดัน 5G สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำคัญของประเทศ และการดำเนินโครงการ Chiangmai Web3 City and Metaverse เปิดสปอตไลต์ส่องหา UNICORN เพื่อเสริมสร้างและส่งเสริมความร่วมมือระดับประเทศในการร่วมกันนำเทคโนโลยี Web3.0 และ Blockchain มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเมือง |
|
6) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของฐานราก |
6.1) ยกระดับผู้ประกอบการรายย่อย (MSME Step up) โดยเฉพาะผู้ประกอบการ OTOP ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้าสู่ระบบของภาครัฐ 1,564 ราย 6.2) ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One-stop Service Center : OSS) บริการให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบ SMEs ในด้านต่างๆ เช่น การตลาด การบริหารจัดการ และการผลิต มีผู้เข้ารับบริการ 130,567 ราย ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลผู้ประกอบการ 77,962 ราย 6.3) สร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร เช่น พัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 20 กลุ่ม และจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพให้แก่กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตรกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและกลุ่มยุวเกษตรกร 6.4) บูรณาการแนวทางการให้ความช่วยเหลือการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอซึ่งให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายแล้ว 581,549 ครัวเรือน คิดเป็น ร้อยละ 89.12 |
|
7) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย |
7.1) บูรณาการองค์ความรู้การจัดทำบัญชีควบคู่กิจกรรมสหกรณ์ เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และสหกรณ์นักเรียนให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายดำเนินการตั้งแต่ปี 2565-2569 ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 19,795 แห่ง นักเรียน 1,023,243 คน 7.2) กำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชง ได้มีประกาศ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 7.3) ดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยค้นหา ติดตามเด็กตกหล่นและออกจากการศึกษากลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มีนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการที่ตกหล่นและออกกลางคัน 121,642 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษา ที่สังกัด ศธ. 67,129 คน และกลับเข้าระบบแล้ว 31,446 คน |
|
8) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม |
8.1) ดำเนินนโยบาย “พาหมอไปหาคนไข้” โดยการจัดหน่วยแพทย์เฉพาะทางอาสาดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกล จังหวัดหนองบัวลำภู ให้เข้าถึงการรักษาเฉพาะทาง 7 สาขา ได้แก่ ผิวหนัง ทันตกรรม พัฒนาการเด็ก การดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลันและการฟื้นฟูสมรรถภาพ โรคมะเร็ง โรคทางเดินปัสสาวะ และการดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลใกล้บ้าน พร้อมมีระบบส่งต่อการรักษารองรับ 8.2) พัฒนาฟังก์ชันของแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เพื่อประเมินภาวะลองโควิด อาการผิดปกติ และระดับความรุนแรง พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติตัวและตรวจสุขภาพใจ เพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นจากผลกระทบโรคโควิด-19 เพื่อนำไปสู่ Digital Health Platform ของประเทศไทย |
|
9) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรม ชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน |
9.1) สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ เช่น แก้ไขปัญหาราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรอง เพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) และสังคมคาร์บอนต่ำ เสนอแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก และยกระดับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว “การท่องเที่ยวสีเขียว” 9.2) จัดงานวันทะเลโลก ประจำปี 2565 “Revitalization : Action for the Ocean” หรือ “รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทร” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ บริเวณสวนสาธารณะลานโลมา ชายหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลและอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งมหาสมุทรไปทั่วโลก 9.3) บริหารจัดการที่ดินในรูปแบบสวัสดิการสังคม เพื่อช่วยเหลือราษฎรยากจนที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน และออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (นค.3) ให้แก่สมาชิกนิคม 4,108 คน (เป้าหมาย 5,000 คน) |
2. นโยบายเร่งด่วน 8 เรื่อง ประกอบด้วย
นโยบายเร่งด่วน |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน |
เช่น (1) จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนและยุติธรรมพบประชาชน 39 ครั้ง มีลูกหนี้ขอไกล่เกลี่ย 30,708 ราย ดำเนินการไกล่เกลี่ย 28,654 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 28,314 ราย รวมทุนทรัพย์ 6,602.30 ล้านบาท สามารถลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้ 2,382.89 ล้านบาท (2) ช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการเกษตรให้ได้รับการลดภาระดอกเบี้ย 973 แห่ง 353,267 ราย และ (3) จัดที่ดินให้เกษตรกรได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 16,400 ราย |
|
2) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม |
เช่น (1) พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านการเกษตร เช่น ระบบข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและข้อมูลทางด้านการเกษตรแบบเปิด และพัฒนา API Engine สำหรับเชื่อมโยงเพื่อตรวจสอบเอกสารสิทธิ์พื้นที่เกษตร (น.ส.4) (2) ดำเนินโครงการต้นแบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อพัฒนาแปลงปลูก/โรงเรือนเกษตรอัจฉริยะต้นแบบสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยีต้นแบบสู่เกษตรกร และ (3) พัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map จำนวน 65,358 ไร่ |
|
3) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน |
ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สาขาอาชีพก่อสร้าง สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ และสาขาอาชีพภาคบริการ รวม 16 สาขา สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2565 |
|
4) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต |
เช่น (1) พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับ ระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา มีความก้าวหน้าร้อยละ 86.93 (2) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับศิริราช พยาบาล และภาคเอกชน ด้านระบบอัตโนมัติ โซลูชั่น การจ่ายกระแสไฟฟ้าและระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำขั้นสูง (3) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครบวงจรในเขต EEC ระหว่าง สกพอ. ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ครบวงจร การให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ (4) ลงทุนในเขต EEC มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 จำนวน 217 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 104,856 ล้านบาท |
|
5) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 |
เช่น (1) บันทึกข้อตกลงยกระดับความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 12 กระทรวง ในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพตามหลักกลยุทธ์ 4H [เก่ง (Head) ดี (Heart) มีทักษะ (Hand) และแข็งแรง (Health)] มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายในระดับเด็กและเยาวชนอายุ 6-25 ปี (2) พัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด (Thai-MOOC) สามารถรองรับผู้เรียนได้อย่างไม่จำกัด 549 รายวิชา มีผู้เรียน 1.4 ล้านคน และมีผู้เรียนจบจนได้รับใบประกาศนียบัตร 1.3 ล้านใบ (3) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) หรือ โครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเป็นรายตำบลทั่วประเทศ และจะนำผลงานเสนอในการประชุมเอเปคให้ได้เห็นโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่ขับเคลื่อนด้วย BCG มีบัณฑิตจบใหม่และประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 68,350 คน |
|
6) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ |
เช่น (1) ดำเนินโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปรับปรุงพื้นที่ปลูกข้าวให้มีความเหมาะสม 1,645 ไร่ (2) ปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ได้ซ่อมแซมบ้านให้กับประชาชนในนิคมสร้างตนเอง 7 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา (อำเภอจะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย) 1,235 หลัง (3) ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 5,364 ราย เป็นเงิน 91.71 ล้านบาท และ (4) สกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดบริเวณพื้นที่ชายแดน สามารถจับกุมผู้กระทำผิด 107 ครั้ง ผู้ต้องหา 138 คน ยึดได้ของกลางยาบ้า 21,395,448 เม็ด ไอซ์ 5.03 กิโลกรัม เฮโรอีน 10.5 กิโลกรัม คีตามีน 76 กิโลกรัม และฝิ่น 14.75 กิโลกรัม |
|
7) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน |
อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa) ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 205 คำขอ |
|
8) การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย |
เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 เช่น ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จัดทำแอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” เพื่อแจ้งเตือนภัยแบบเจาะลึกเข้าถึงเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติ และเปิดช่องทางการแจ้งเหตุและรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง แอปพลิเคชัน Line “ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784” |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9267