มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 23:04
- Hits: 2065
มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาตามที่คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนเสนอ และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ป.ย.ป. รายงานว่า
1. การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคนให้มีศักยภาพและมีคุณภาพสามารถดำรงชีวิตในสังคมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development: SDG) ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 54 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ในการจัดให้ประชาชนไทยได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดย ไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล รวมทั้งต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน ด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษามีความรุนแรงและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสถานศึกษาต้องดำเนินการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งส่งผลเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองในการจัดหาอุปกรณ์และการเข้าถึงบริการสื่อสารจนในบางกรณีเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กจำนวนมาก
2. คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการเข้าถึงทางการศึกษาของเยาวชนไทย ตลอดจนได้หารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนจำนวนมาก โดยในปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษประมาณ 1.8 ล้านคน (ตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา - ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า) ซึ่งนักเรียนในกลุ่มดังกล่าวเพียงแค่ร้อยละ 20 ที่มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียน และร้อยละ 61 ที่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ยังคงมีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่มีความพร้อมด้านฐานะทางการเงินที่ขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับใช้เพื่อการเรียนและมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้านต่ำมาก
3. คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเห็นควรเสนอมาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ (ตามมติคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564) พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป สรุปได้ ดังนี้
3.1 มาตรการทางกฎหมาย ควรเพิ่มบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติทางการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... (อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา) เพื่อกำหนดให้การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... รัฐสภาแล้ว และคณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 รับทราบข้อเสนอและจะได้นำไปประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อไป
3.2 มาตรการช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แบ่งเป็น
1) มาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ต : คาดว่าจะใช้วงเงินงบประมาณทั้งหมดประมาณ 126 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 1,512 ล้านบาทต่อปี |
|
ระยะเร่งด่วน |
ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาการต่ออายุมาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี |
ระยะกลาง |
ให้ สพฐ. พิจารณาขอรับเงินสนับสนุนจาก กสศ. เพื่อสนับสนุนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และในระยะต่อไปให้พิจารณาแนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO) มาดำเนินการ |
ระยะยาว |
ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และ กสศ. พิจารณาศึกษามาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตในระยะยาวเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน |
2) มาตรการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษา : คาดว่าใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 8,000 - 10,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ป.1 - ม.6) และเทียบเท่า ที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษ ตามหลักเกณฑ์ของ กสศ. ประมาณ 1.6 ล้านคน (5,000 บาทต่อเครื่อง) |
|
ระยะเร่งด่วน |
สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพาเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ เพื่อให้เด็กนักเรียนที่ขาดแคลนสามารถมีอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ได้มากขึ้น โดยอาจมอบหมายให้ ศธ. หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) เพื่อพิจารณานโยบายทางภาษีและมาตรการอื่นๆ ในการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนการเรียนรู้เทคโนโลยีในทุกมิติ เช่นการลดหย่อนภาษีอุปกรณ์บริจาคที่มีความครอบคลุมมากขึ้น และให้สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยดำเนินการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะมาตรการที่จูงใจของภาคเอกชน และนำเสนอรัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณาในการออกมาตรการเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม |
ระยะกลาง |
- ให้ กสศ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการสนับสนุนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพาเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษแก่นักเรียนทุกคนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ป.1 - ม.6) และเทียบเท่า และให้ สพฐ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามพื้นที่ที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ โดยยึดหลักการที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและหลักพื้นที่ของสุขภาวะและความจำเป็นของเด็กแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ สำหรับการสนับสนุนของ อปท. นั้น กระทรวงมหาดไทย (มท.) อาจพิจารณาออกระเบียบเพื่อกำหนดให้สามารถนำเงินสะสมมาใช้ในการดำเนินการเฉพาะกรณีดังกล่าวได้ รวมทั้งให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมจัดทำแอปพลิเคชันเสริมประกอบการเรียนออนไลน์ที่สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน - ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุนค่าไฟฟ้าเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษร่วมด้วย |
ระยะยาว |
ให้ ศธ. พิจารณาแนวทางการขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นหลักประกันในการจัดให้มีอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในการเรียนการสอนออนไลน์อย่างยั่งยืน โดยเป็นมาตรการถาวรและสามารถใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยเงื่อนไขในการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษาต้องเป็นไปอย่างรัดกุม มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนที่ได้รับสิทธิเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ควรให้สิทธิแก่นักเรียนทุกคนในระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ป.1 - ม.6) และเทียบเท่าที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษ ตามเกณฑ์ของ กสศ. โดยยึดหลักการ Student-Centric ที่เป็นการให้เงินอุดหนุนแก่นักเรียนโดยตรง อาจให้ในลักษณะ Voucher1 หรือ e-voucher ผ่านแอปพลิเคชันของรัฐเพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนนำไปใช้ซื้อคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษาได้โดยตรงตามความต้องการของนักเรียนแต่ละคนในแต่ละระดับชั้น และรัฐควรมีบทบาทในการกำหนดประเภทและมาตรฐานของอุปกรณ์2 ประเภทของซอฟท์แวร์ที่บรรจุอยู่ในเครื่อง รวมถึงเงื่อนไข ในการรับประกันของผู้จำหน่ายให้เหมาะสมกับการเรียนในแต่ละระดับชั้น |
มาตรการเพิ่มเติมสำหรับครู : ให้ ศธ. พิจารณาดำเนินการสนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดพกพา เพื่อการศึกษาให้กับครูผู้สอนควบคู่ไปกับการสนับสนุนเด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษ เนื่องจากในปัจจุบันครูผู้สอนมีภาระที่ต้องแบกรับจากการสอนในรูปแบบออนไลน์ทั้งค่าใช้จ่ายในด้านอุปกรณ์การสอนและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของทางราชการ ทำให้การเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ของครูผู้สอนอาจไม่ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดหรือโรงเรียนในชนบทที่มีความขาดแคลนทั้งบุคลากร งบประมาณ และการเข้าถึงทางเทคโนโลยี |
_____________________________________
1 Voucher จะสามารถนำไปซื้อคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษาที่ผ่านการรับรองแล้วเท่านั้น และอาจใช้แนวทางเช่นกรณี การแจกคูปองทีวิดิจิทัลที่เปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อคเป็นระบบดิจิทัลของ กสทช. เมื่อปี 2557 ซึ่งมีข้อดีคือป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน เนื่องจากเป็นการแจกคูปองทางไปรษณีย์ตามทะเบียนบ้านของประชาชนโดยตรง
2 คุณสมบัติของอุปกรณ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กนักเรียน คือ คอมพิวเตอร์แบบ Notebook หรือ คอมพิวเตอร์ขนาดพกพาแบบ All in one (Tablet) โดยควรเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ (for education purposes only) ส่วนระบบ Hardware และ Software ของอุปกรณ์ประเภทนี้จะถูกจำกัดการใช้งานไว้สำหรับแอปพลิเคชัน เพื่อการศึกษาเท่านั้น เพื่อป้องกันการนำอุปกรณ์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9263