การกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 22:58
- Hits: 2112
การกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) หรือรูปแบบอื่นที่กระทรวงการคลัง (กค.) เห็นชอบ โดยขอให้ กค. ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ กฟผ.
2. เห็นชอบให้ กฟผ. สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ในกรณีที่ กฟผ. มีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องของ กฟผ. ตามสภาวะตลาดการเงินในขณะนั้น และประโยชน์ในการบริหารจัดการภาระหนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
พน. รายงานว่า
1. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ปี 2563 และสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ได้ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชนและราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการ พน. และหน่วยงานภายใต้การกำกับของ พน. จึงได้มีการบริหารจัดการราคาพลังงานและมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานตามมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำกับดูแลอัตราค่าบริการพลังงานไฟฟ้าตามนโยบายของภาครัฐ โดยได้มอบหมายให้ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน และเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจช่วยรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 87,849 ล้านบาท (ค่าประมาณการ ณ เดือนมีนาคม 2565) มาเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน และ กกพ. จะพิจารณาส่งผ่านค่าใช้จ่ายดังกล่าวในการพิจารณาค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในระยะต่อไป
มติ กกพ. |
รายละเอียด |
ภาระค่า Ft |
- กกพ. ครั้งที่ 27/2564 (วันที่ 7 กรกฎาคม 2564) - กกพ. ครั้งที่ 29/2564 (วันที่ 21 กรกฎาคม 2564) |
งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 มีมติเห็นชอบค่า Ft เท่ากับ – 15.32 สตางค์ต่อหน่วย ตามแนวทางการพิจารณาเกลี่ยค่า Ft ให้คงที่ตลอดปี 2564 (ค่า Ft ตามผลการศึกษาอยู่ที่ – 15.30 สตางค์ต่อหน่วย) |
38,943 ล้านบาท |
- กกพ. ครั้งที่ 49/2564 (วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564) - กกพ. ครั้งที่ 51/2564 (วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564) |
งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2565 มีมติเห็นชอบค่า Ft เท่ากับ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย (ค่า Ft ตามผลการศึกษาอยู่ที่ 48.01 สตางค์ต่อหน่วย) |
22,244 ล้านบาท |
- กกพ. ครั้งที่ 12/2565 (วันที่ 9 มีนาคม 2565) - กกพ. ครั้งที่ 15/2565 (วันที่ 30 มีนาคม 2565) |
งวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบค่า Ft เท่ากับ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย (ค่า Ft ตามผลการศึกษาอยู่ที่ 129.91 สตางค์ต่อหน่วย) |
26,662 ล้านบาท |
รวม |
87,849 ล้านบาท |
2. การรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ค่า (Ft ) ได้ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ. ในปี 2565 ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า กฟผ. จะได้รับอนุมัติให้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน วงเงินไม่เกิน 55,000 ล้านบาทตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 และวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 แต่ยังคงไม่เพียงพอรองรับการขาดสภาพคล่องดังกล่าว ทั้งนี้ จากการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 30 เมษายน 2566 พบว่า กฟผ. จะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท ดังนั้น กฟผ. จึงต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ตามนโยบายรัฐบาล ภาตใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) หรือรูปแบบอื่นๆ ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเห็นชอบ โดยขอให้ กค. ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ กฟผ. ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินของภาครัฐ ข้อ 2 (7)1 เพื่อเป็นการยกเว้นการนับรวมวงเงินกู้ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit: SLL) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ กฟผ. และบริษัทในเครือ/บริษัทร่วมทุน ยังคงสามารถกู้เงินสำหรับการดำเนินโครงการตามภารกิจของหน่วยงานได้ต่อไป และ กฟผ. จะยังคงมีความสามารถในการระดมทุนครอบคลุมวงเงินกู้ข้างต้น รวมทั้งส่งผลให้ต้นทุนในการกู้เงินลดลงและยังเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ธนาคารต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งคณะกรรมการ กฟผ. ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
3. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 (ครั้งที่ 159) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 มีมติรับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของกฟผ. ซึ่ง กฟผ. ช่วยรับภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นมาเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และวันที่ 29 มีนาคม 2565 และมอบ พน. นำเรื่องการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐ ประจำปี 2566 ของ กฟผ. ในวงเงิน 85,000 ล้านบาท โดยให้ กค. ค้ำประกันเงินกู้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอแผนการกู้เงินฯ ต่อคณะกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อพิจารณาและจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 ต่อไป
_____________________
1หนี้อันเนื่องมาจากการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินภาครัฐที่ราคาสินค้าและบริการอยู่ภายใต้การควบคุมตามนโยบายรัฐบาล หรือเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9262