การเสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปี 2566 ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 22:29
- Hits: 2072
การเสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปี 2566 ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบงบประมาณ จำนวน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2566 ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (องค์กรร่วมฯ) ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ พน. เร่งรัดการเสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานขององค์กรร่วมไทย–มาเลเซียให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การดำเนินงานขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (องค์กรร่วมฯ) ได้รับการยอมรับจากชุมชนระหว่างประเทศว่าเป็นการแสวหาผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียมร่วมกันและแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ นอกจากนี้ จากการประเมินศักยภาพปิโตรเลียม พบว่าในพื้นที่ขององค์กรร่วมฯ จะยังคงมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่สามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ไทยและมาเลเซียต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี และยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางอ้อมสู่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงของทั้งสองประเทศด้วย อาทิ ส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบและการจ้างแรงงาน กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นานาประเทศในการแก้ปัญหาเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนในทะเลอย่างเป็นรูปธรรม
2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในมาตรา 5 และมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (8) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 ข้อ 3 กำหนดให้องค์กรร่วมฯ เสนองบประมาณประจำปีหลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์กรร่วมฯ แล้ว โดยให้เสนอต่อรัฐบาลแต่ละฝ่ายเพื่อให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยรัฐธรรมนูญการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียฯ พ.ศ. 2533 ก่อนวันเริ่มต้นปีงบประมาณไม่น้อยกว่าห้าเดือน (ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม) ทั้งนี้ ปีงบประมาณขององค์กรร่วมฯ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี
3. องค์กรร่วมฯ ได้เสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปี 2566 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์กรร่วมฯ แล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 138 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 สรุปได้ ดังนี้
งบประมาณปี 2566 รวมทั้งสิ้นจำนวน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ งบประมาณปี 2566 ที่เสนอขอในครั้งนี้ เป็นการจัดทำรายละเอียดคำขอขึ้น ตามพื้นฐานกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯ ในสถานการณ์ปกติ ซึ่งสูงกว่างบประมาณปี 2565 ที่ได้รับอนุมัติภายใต้สภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ร้อยละ 22 ซึ่งค่าใช้จ่ายประจำปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น/ลดลง ประกอบด้วย (1) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเช่า ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน และ (2) ค่าใช้จ่ายที่ลดลง ได้แก่ ค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซม
4. ที่มาของงบประมาณประจำปี 2566 จำนวน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ องค์กรร่วมฯ ได้เสนอขอใช้เงินที่ได้รับจากการขายปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จำนวน 4,271,916 ดอลลาร์สหรัฐ และงบประมาณเหลือจ่ายของปี 2564 จำนวน 728,084 ดอลลาร์สหรัฐ
5. ประมาณการรายได้รวมขององค์กรร่วมฯ ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 667,600,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย ค่าภาคหลวง จำนวน 181,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร จำนวน 486,100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
6. แผนการดำเนินงานในปี 2566 ประกอบด้วย ด้านการสำรวจเพื่อการประเมินผลด้านการพัฒนาปิโตรเลียม และด้านการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย สรุปได้ ดังนี้
แปลง |
ผู้ดำเนินงาน |
ตัวอย่างกิจกรรมสำคัญ |
|
A-18 |
Carigali Hess Operating Company Sdn. Bhd. |
- เจาะหลุมประเมินผล จำนวน 1 หลุม ในแหล่ง Senja (แท่นหลุมผลิต Senja C) - เจาะหลุมปิโตรเลียมในแหล่ง Bumi Deep Phrase 1 and 2 จำนวน 7 หลุม ประกอบด้วย (1) แท่นผลิต Suriya-A (SYA) จำนวน 3 หลุม และ (2) แท่นผลิต Bumi-B (BMB) จำนวน 4 หลุม - รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุด (CDC) ในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน - ประสานงานกับบริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (TTM) เพื่อให้การผลิตก๊าซเป็นไปตามสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ |
|
B-17 และ C-19 |
Carigali – PTTEPI Operating Company Sdn. Bhd
|
- ประเมินผลการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ จากการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผล จำนวน 2 หลุม ได้แก่ หลุม Jengka-5 และหลุม Mali-2 ในแปลง - เจาะหลุมตามแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมระยะที่ 5 จำนวน 3 หลุม ที่แท่นผลิต Muda-G (MDG) รวมถึงเจาะหลุม Infill ที่แท่นผลิต Jengka-B (UKB) จำนวน 3 หลุมและที่แท่นผลิต Jengka-A (JKA) จำนวน 4 หลุม - วางแผนการศึกษาและพัฒนาปิโตรเลียมระยะที่ 7 - ศึกษาวิธีการออกแบบวิศวกรรม (Front End Engineering Design: FEED) การใช้หลุมผลิตในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 - รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุด (CDC) ในอัตรา 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน |
|
B-17-01 |
- ดำเนินงานด้านวิศวกรรม การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้างแท่นหลุมผลิตตามแผนพัฒนาโครงการระยะที่ 6 - ซ่อมแซมหลุมผลิตเดิมและเจาะผนังหลุมเพิ่ม เพื่อรักษาอัตราการผลิตของหลุม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9258