การให้การยอมรับในข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของ เสียอันตรายและการกำจัด (Ban Amendment)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 22:20
- Hits: 2019
การให้การยอมรับในข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของ เสียอันตรายและการกำจัด (Ban Amendment)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการให้การยอมรับในข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุม การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Ban Amendment) รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำตราสารการยอมรับ (Instrument of Acceptance) และส่งมอบให้เลขาธิการสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาต่อไปตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (2 มีนาคม 2533) เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมลงนามเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (อนุสัญญาบาเซลฯ) และต่อมาได้มีมติ (8 กรกฎาคม 2540) เห็นชอบให้ประเทศไทยให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซลฯ
2. อนุสัญญาบาเซลฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากการจัดการของเสียอันตราย ลดการเกิดของเสียอันตรายและส่งเสริมการจัดการของเสียอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำกัดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย และมีระบบกฎหมายที่ใช้ในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน ปัจจุบันมีภาคีสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นภาศีสมาชิก ในลำดับที่ 115 ตั้งแต่ปี 2541
3. ภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติ เช่น ต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อควบคุมการนำเข้า ส่งออก และการนำผ่านของเสียอันตรายข้ามแดนให้สามารถดำเนินการอย่างปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม
4. ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาศีสมาชิกอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Ban Amendment) ตั้งแต่ปี 2541 ต่อมาในปี 2538 และปี 2562 ที่ประชุม รัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 3 และสมัยที่ 14 ได้รับรองการแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 และวันที่ 1 มกราคม 2564 ตามลำดับ โดยการแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ มีสาระสำคัญหลัก 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1) การห้ามนำเข้า/ส่งออก ของเสียอันตราย |
(1) ห้ามประเทศในกลุ่ม (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ประชาคมยุโรป (European Communities: EC) และลิกเตน สไตน์ ส่งของเสียอันตรายทุกประเภทไปยังประเทศอื่นเพื่อนำไปกำจัดโดยวิธีการที่อนุสัญญาบาเซลฯ กำหนด (เช่น การฝังกลบ การเผา) (2) ห้ามประเทศในกลุ่ม OECD ประชาคมยุโรป และลิกเตนสไตน์ส่งของเสียอันตราย (เช่น ของเสียจากการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ และของเสียจากการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม ที่มีคุณลักษณะความอันตรายตามที่กำหนด (เช่น ระเบิดได้ ของเหลวไวไฟ สารติดเชื้อ) ไปยังประเทศอื่น |
|
2) การเพิ่มประเภทของเสียอันตราย |
เป็นการเพิ่มให้ขยะพลาสติก เช่น โพลีเอทิลีน (PE) โพลีโพรพีลีน (PP) โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ถือเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซลฯ ซึ่งตามอนุสัญญาบาเซลฯ จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการนำเข้า/ส่งออก เช่น ห้ามนำเข้า/ส่งออก นำเข้า/ส่งออกได้เฉพาะขยะที่สะอาดและจะนำมารีไซเคิลอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เป็นต้น |
ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประเทศไทยให้การยอมรับในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยถูกห้ามมิให้นำเข้าของเสียอันตรายตามข้อ 1) รวมทั้งจะต้องพิจารณาการนำเข้าขยะพลาสติกตามข้อ 2) ตามเงื่อนไขที่อนุสัญญาบาเชลฯ กำหนด
ในครั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการให้การยอมรับในข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Ban Amendment) และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำตราสารการยอมรับ (Instrument of Acceptance) และส่งมอบให้เลขาธิการสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาต่อไป ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 แล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9257