การลงนามความตกลงของอาเซียนว่าด้วยกรอบการกำกับดูแลด้านยาแผนโบราณ (ASEAN Agreement on Regulatory Framework for Traditional Medicines; TM Agreement) และความตกลงของอาเซียนว่าด้วยกรอบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ASEAN Agreement on Regulatory Framework for
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 22:12
- Hits: 2074
การลงนามความตกลงของอาเซียนว่าด้วยกรอบการกำกับดูแลด้านยาแผนโบราณ (ASEAN Agreement on Regulatory Framework for Traditional Medicines; TM Agreement) และความตกลงของอาเซียนว่าด้วยกรอบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ASEAN Agreement on Regulatory Framework for Health Supplements; HS Agreement)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบและอนุมัติการลงนามความตกลงของอาเซียนว่าด้วยกรอบการกำกับดูแลด้านยาแผนโบราณ (ASEAN Agreement on Regulatory Framework for Traditional Medicines; TM Agreement) (ความตกลงฯ การกำกับดูแลด้านยาแผนโบราณ) และความตกลงของอาเซียนว่าด้วยกรอบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ASEAN Agreement on Regulatory Framework for Health Supplements; HS Agreement) (ความตกลงฯ การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)
2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในความตกลงทั้ง 2 ฉบับ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญในความตกลงทั้ง 2 ฉบับ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้คณะรัฐนตรีมอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามสถานการณ์ตามความเหมาะสมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอื่นเป็นผู้ลงนามในความตกลงทั้ง 2 ฉบับ
4. ภายหลังการลงนามแล้ว ให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในความตกลงทั้ง 2 ฉบับ
5. มอบหมายให้ กต. จัดทำสัตยาบันสารสำหรับความตกลงทั้ง 2 ฉบับ และยื่นต่อเลขาธิการอาเซียน เมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบความตกลงทั้ง 2 ฉบับแล้ว และ สธ. ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันมายัง กต. ว่า ฝ่ายไทยได้ดำเนินกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการมีผลบังคับใช้ของความตกลงเสร็จสิ้นแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1) ร่างความตกลงฯ การกำกับดูแลด้านยาแผนโบราณและร่างความตกลงฯ การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับการรับรองจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน (ASEAN Consultive Committee on Standards and Quality: ACCQ) (คณะกรรมการ ACCSQ) ในคราวประชุมครั้งที่ 56 ระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน 2564 และได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economics Officials Meeting - SOM) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564
2) สำนักเลขาธิการอาเซียนและคณะกรรมการ ACCSQ ได้แจ้งยืนยันกำหนดการลงนามความตกลงฯ การกำกับดูแลด้านยาแผนโบราณและความตกลงฯ การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในเดือนกันยายน 2565 ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 54 โดยในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 5 -11 กันยายน 2565 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
3) ร่างความตกลงฯ การกำกับดูแลด้านยาแผนโบราณและร่างความตกลงฯ การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย คุณภาพและประสิทธิผล หรือการกล่าวอ้างคุณประโยชน์ของยาแผนโบราณ/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่วางจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน และเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านข้อกำหนดทางเทคนิคและแนวทางต่างๆ ที่สอดคล้องกัน (กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องรับประกันว่า ยาแผนโบราณ/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นไปตามความตกลงและภาคผนวกที่เกี่ยวข้อง สามารถจำหน่ายในตลาดของประเทศสมาชิกได้)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9255