ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2565 (Ministers Responsible for Trade Meeting 2022) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 22:09
- Hits: 2031
ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2565 (Ministers Responsible for Trade Meeting 2022) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2565 (Ministers Responsible for Trade Meeting 2022) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ทั้งนี้ให้ พณ. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2565 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19 - 22 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นและดำเนินการในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.1 การหารือภาครัฐ-ภาคเอกชนระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) เกี่ยวกับการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP โดยมีผู้แทน ABAC จากเขตเศรษฐกิจต่างๆ เข้าร่วม เช่น สาธารณรัฐสิงคโปร์ เครือรัฐออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องประเด็นต่างๆ เช่น (1) การรับมือกับโควิด-19 ผ่านการสนับสนุนการลดมาตรการที่มิใช่ภาษีที่มีผลในการกีดกันทางการค้าและการปรับปรุงกฎระเบียบด้านศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากขึ้น (2) การใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) เป็นแนวทางในการจัดทำ FTAAP และ (3) การจัดทำแผนงาน FTAAP โดยพิจารณาประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล การเสริมสร้างกฎระเบียบทางการค้าที่มีความโปร่งใส การปรับปรุงข้อบทความตกลงการค้าเสรีเดิมให้มีคุณภาพสูง การให้สัตยาบันและปฏิบัติตามความตกลง RCEP การจัดทำกฎระเบียบการค้า/การลงทุนยุคใหม่ให้มีคุณภาพสูง การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) และการปรับปรุงนโยบายทางการค้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1.2 วาระระบบการค้าพหุภาคี ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้รายงานสถานการณ์เจรจาล่าสุดในประเด็นสำคัญที่กำลังดำเนินการใน WTO และมีการขอรับการสนับสนุนจากเขตเศรษฐกิจเพื่อผลักดันให้การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (The 12th WTO Ministerail Conference: MC12) เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 25651 ประสบความสำเร็จ ซึ่งแต่ละเขตเศรษฐกิจต่างเห็นพ้องกับผู้อำนวยการใหญ่ WTO ในการหาข้อสรุปการเจรจาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมง การเกษตรที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงทางอาหาร การบรรลุความก้าวหน้าในการหารือด้านการค้ากับสุขภาวะ และการปฏิรูป WTO นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นหรือแนวนโยบายการค้าที่สนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อเร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
1.3 วาระการอยู่ร่วมกับโควิด-19 และอนาคต โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสำคัญที่จะเป็นแนวนโยบาย/มาตรการเพื่อส่งเสริมให้เขตเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 และการปรับตัวต่อความท้าทายต่างๆ ในอนาคต รวมทั้งเห็นพ้องถึงความสำคัญของการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ เช่น การค้า การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจำเป็น การเสริมสร้างการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและการเดินทางข้ามพรมแดน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสตรีและ MSMEs ในระบบเศรษฐกิจโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา2 ของเอเปค ค.ศ. 2040 รวมทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นการค้าและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
2. การลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ภายใต้พิธีสารระหว่างไทยกับเปรูเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ระหว่างผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พณ. (นายสรรเสริญ สมะลาภา) และรัฐมนตรีช่วยว่าการด้านการค้าต่างประเทศของกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวเปรู เพื่อปรับปรุงและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน โดยมีการยอมรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ลงนามและประทับตราด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ การยกเลิกข้อกำหนดให้การขนส่งสินค้าผ่านประเทศนอกภาคีต้องเป็นไปตามเหตุผลด้านภูมิศาสตร์ และการเพิ่มเติมข้อบทให้รองรับการจัดทำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ซึ่งการลงนามดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยและเปรูสามารถค้าขายได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้นและช่วยสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจภายในเอเปค
3. การจัดงานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 และนิทรรศการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio Circular Green (BCG) Economy] เพื่อส่งเสริมให้ MSMEs นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจและเพิ่มมูลค่าสินค้าอย่างยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ จากเขตเศรษฐกิจที่มีนโยบายสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย เช่น นโยบายกลยุทธ์พลังงานสีเขียวของญี่ปุ่นและโครงการยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจหมุนเวียนของสาธารณรัฐชิลี รวมทั้งมีการนำเสนอตัวอย่างสินค้าที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากนักธุรกิจไทยและเขตเศรษฐกิจ
4. การสัมมนาการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ในช่วงโควิด-19 และอนาคต เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับทราบและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP และความตกลงการค้าเสรีในยุคหลังโควิด-19 รวมทั้งประเด็นการค้าใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากความตกลงการค้าเสรีในปัจจุบัน โดยมีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการขับเคลื่อน FTAAP ระหว่างวิทยากรจากภาครัฐของเขตเศรษฐกิจต่างๆ และภาคเอกชนของไทย ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน การลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนแรงงานที่จำเป็นระหว่างกัน การสนับสนุนให้มีการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การกำหนดข้อตกลงที่เอื้อต่อธุรกิจ MSMEs และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างภายในประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อน FTAAP สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบันได้
5. เอกสารผลลัพธ์การประชุม เขตเศรษฐกิจเห็นพ้องกันในทุกประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนภายใต้เอเปค ซึ่งสะท้อนความเห็นของเขตเศรษฐกิจ เป้าหมายและกิจกรรมความร่วมมือที่เขตเศรษฐกิจจะผลักดันร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคจึงไม่สามารถมีฉันทามติรับรองแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2565 ได้ โดยปรากฏเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังนี้ (1) แถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค (2) ภาคผนวก เรื่อง คำนิยามของเอเปคบริการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ (3) ภาคผนวก เรื่อง หลักการตามความสมัครใจเพื่อส่งเสริมความสอดคล้องกันของใบรับรองการฉีดวัคซีนในภูมิภาคเอเปค และ (4) แถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค เรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ในช่วงโควิด-19 และอนาคต ทั้งนี้ มีการปรับเปลี่ยนหรือระบุเพิ่มเติมที่สำคัญในเอกสารผลลัพธ์โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 และเป็นประโยชน์ต่อไทยเนื่องจากทำให้มีดุลพินิจในการกำหนดนโยบายมากขึ้น รวมถึงสามารถสะท้อนหัวข้อหลักและสนับสนุนการขับเคลื่อนผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย
_________________________________
- 1การประชุม MC12 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อใช้ในการตัตสินใจในประเด็นสำคัญและกำหนดทิศทางการทำงานของ WTO ในอนาคต
- 2วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 เป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมือของเอเปคในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อนำไปสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ ภายใน ค.ศ. 2040
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9254