การร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบเอกสาร รวมถึงท่าทีในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister: AEM) ครั้งที่ 54 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 September 2022 22:02
- Hits: 2068
การร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบเอกสาร รวมถึงท่าทีในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister: AEM) ครั้งที่ 54 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารในข้อ 1 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในร่างเอกสารดังกล่าว ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมลงนามเอกสารในข้อ 1.1 และรับรองเอกสารในข้อ 1.2 และให้ความเห็นชอบเอกสารในข้อ 1.3 ในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน (ตามเอกสาร 1.1) และแจ้งต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนว่าไทยพร้อมที่จะให้ร่างพิธีสารฯ มีผลผูกพันต่อไปภายหลังจากที่ประเทศสมาชิกลงนามครบทุกประเทศแล้วและกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดในร่างพิธีสารฯ แล้ว
4. ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะคณะรัฐมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองเอกสารในข้อ 1.3.3 ต่อไป
5. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมประกาศการสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) อย่างมีนัยสำคัญ และการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (JC) ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย
สาระสำคัญของร่างเอกสาร
1. ร่างเอกสารที่จะมีการลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบ
กระทรวงพาณิชย์ขอเสนอเอกสาร จำนวน 12 ฉบับ ที่จะมีการลงนาม จำนวน 1 ฉบับ รับรอง จำนวน 1 ฉบับ และให้ความเห็นชอบ จำนวน 10 ฉบับ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 54 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
1.1 ร่างเอกสารที่จะมีการลงนาม คือ ร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน (Protocol to Amend the ASEAN Agreement on the Movement of Natural Persons) เป็นการปรับปรุงตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ให้บริการและนักลงทุนอาเซียนในการเข้าถึงข้อมูลการเปิดตลาดฯ โดยมิได้มีการเปิดตลาดเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของข้อผูกพันใดๆ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนผูกพันไว้ในความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน ที่อาเซียนลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2555
1.2 ร่างเอกสารที่จะให้การรับรอง คือ ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด ของการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ครั้งที่ 21 (The Twenty-First AEM-MOFCOM Consultation Joint Statement on Cooperation for Post-COVID Economic Recovery) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระหว่างอาเซียนกับจีนในการเสริมสร้างความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการดำเนินมาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาความสอดคล้องของแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของอาเซียนกับจีน (2) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในเชิงลึก (3) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน (4) การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และ (5) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน
1.3 ร่างเอกสารที่จะให้ความเห็นชอบ จำนวน 10 ฉบับ ดังนี้
1.3.1 ร่างบัญชีกฎเฉพาะรายสินค้าและบัญชีรายการสินค้าสิ่งทอ ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ในระบบพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน ฉบับปี 2022 (The Transposed ATIGA Product Specific Rules (PSRs) and its Attachment of Textile Single List in AHTN 2022) - อาเซียนได้ดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชีกฎเฉพาะรายสินค้า และบัญชีรายการสินค้าสิ่งทอ ซึ่งเป็นภาคผนวก 3 และเอกสารแนบของภาคผนวก 3 ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน จากระบบพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน ฉบับปี 2017 เป็นฉบับปี 2022 ตามการปรับโอนพิกัดฯ ขององค์การศุลกากรโลก ทำให้มีสินค้าที่ใช้กฎเฉพาะรายสินค้า รวมทั้งสิ้น 2,868 รายการ ซึ่งการปรับโอนพิกัดฯ ดังกล่าว เป็นการดำเนินการเป็นประจำทุกๆ 5 ปี และเป็นการดำเนินการทางเทคนิคซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อพันธกรณีที่ไทยผูกพันไว้เดิม
1.3.2 ร่างบัญชีรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ในระบบพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน ฉบับปี 2022 (The Transposed ATIGA List of Information Technology Agreement (ITA) Products in AHTN 2022) - อาเซียนได้ดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชีรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นภาคผนวก 4 ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน จากระบบพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน ฉบับปี 2017 เป็นฉบับปี 2022 รวมทั้งสิ้น 457 รายการ ซึ่งการปรับโอนพิกัดฯ ดังกล่าว เป็นการดำเนินการทางเทคนิคซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อพันธกรณีที่ไทยผูกพันไว้เดิม
1.3.3 ร่างแผนดำเนินงานตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี ค.ศ. 2023-2030 (Implementation Plan for the Framework for Circular Economy for the ASEAN Economic Community 2023-2030) - เป็นแผนดำเนินงานภายใต้กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ โดยกำหนดขอบเขตงานและกิจกรรมความร่วมมือ อาทิ การจัดทำบัญชีสินค้าและบริการหมุนเวียน การจัดตั้งกลไกติดตามตรวจสอบเพื่อเพิ่มความโปร่งใสของการเคลื่อนย้ายสินค้าหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่มูลค่า และได้กำหนดแผนงานสำหรับอุตสาหกรรมนำร่อง 3 สาขา ได้แก่ การเกษตร พลังงาน และขนส่ง ทั้งนี้ แผนดำเนินงานดังกล่าวมีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น (5 ปี) ระยะกลาง (10 - 15 ปี) และระยะยาว (15 ปีขึ้นไป)
1.3.4 ร่างแผนงานว่าด้วยการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าอาเซียน-จีน ในเชิงลึก ปี ค.ศ. 2022-2026 (Work Programme on Further Deepening ASEAN-China Trade Economic Cooperation 2022-2026) - เป็นแผนการดำเนินงานระหว่างอาเซียนกับจีน ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ประกอบด้วย (1) การขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนอาเซียน-จีน (2) การขยายความร่วมมือในการต่อต้านการระบาดใหญ่ในด้านเศรษฐกิจและการค้า (3) การยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน และ (4) การเสริมสร้างความร่วมมือในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยจะมีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี รวมทั้งมีการทบทวนการดำเนินงานในระยะกลางและในระยะสุดท้าย
1.3.5 ร่างรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันในการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Joint Feasibility Study Report to Further Enhance the ASEAN-China Free Trade Area) - เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันระหว่างอาเซียนและจีนในการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งประกอบด้วยการเปิดเสรีเพิ่มเติมด้านการค้าสินค้า การเปิดเสรีด้านการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุน และความร่วมมือสาขาอื่นๆ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค และความร่วมือด้านอื่นๆ ที่ตกลงกัน ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ได้ให้ความเห็นชอบเอกสารดังกล่าวแล้ว จะเสนอผู้นำอาเซียนและจีนประกาศเริ่มการเจรจายกระดับความตกลงฯ ต่อไป
1.3.6 ร่างแผนงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป ปี ค.ศ. 2022-2023 (ASEAN-EU Trade and Investment Work Programme 2022-2023) - เป็นแผนการดำเนินงานระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปในช่วงระยะเวลา 2 ปี เพื่อขยายโอกาสและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นและแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน รวมถึงการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่ระบบการค้าพหุภาคีและระดับภูมิภาค โดยประกอบด้วยกิจกรรม 5 ส่วน ได้แก่ (1) การหารือระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (2) การหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ (3) การจัดทำกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป (4) การหารือกับภาคเอกชน และ (5) การเสริมสร้างขีดความสามารถและความช่วยเหลือด้านเทคนิค
1.3.7 ร่างแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี ค.ศ. 2023-2024 (ASEAN Plus Three Economic Cooperation Work Programme 2023-2024) - เป็นแผนการดำเนินงานระหว่างสมาชิกอาเซียนบวกสาม ในช่วงระยะเวลา 2 ปี ประกอบด้วยการดำเนินกิจกรรมสำคัญ 12 หัวข้อ ได้แก่ (1) การจัดประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามเพื่อหารือเกี่ยวกับการเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน (2) การจัดประชุมประจำปีของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนบวกสาม (3) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเฉพาะความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ญี่ปุ่น (4) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนบวกสาม (5) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (6) การจัดทำวิจัยร่วมกันด้านการค้าและการลงทุน (7) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (8) การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (9) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (10) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (11) การติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ (12) พลังงานทดแทนและเศรษฐกิจสีเขียว
1.3.8 ร่างแผนดำเนินงานระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร เพื่อดำเนินการตามปฏิญญาประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (สหราชอาณาจักร) (ASEAN-UK Work Plan to Implement the ASEAN-UK Joint Ministerial Declaration on Future Economic Cooperation) - เป็นเอกสารกำหนดแผนการดำเนินงานระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักรภายใต้ปฏิญญาฯ ประกอบด้วยสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 11 ด้าน ได้แก่ (1) การหารือด้านนโยบายระดับสูง (2) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร และการรักษาการเปิดตลาด (3) ความเป็นเลิศด้านกฎระเบียบ (4) นวัตกรรมดิจิทัล (5) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (6) การเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (7) บริการทางการเงิน (8) การเติบโตอย่างยั่งยืน (9) โครงสร้างพื้นฐาน (10) ทักษะและการศึกษา และ (11) การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี รวมถึงโครงการที่ได้รับทุน สัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการหารือระหว่างคณะทำงานระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร คณะทำงานรายสาขาหรือองค์กรในเครือข่ายอาเซียน
1.3.9 ร่างแผนดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกันสหรัฐอเมริกา และการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี ค.ศ. 2022-2023 (2022-2023 ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Arrangement (TIFA) and Expanded Economic Engagement (E3) Workplan) - เป็นแผนการดำเนินงานระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ในช่วงระยะเวลา 2 ปี ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน ความร่วมมือกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรสิ่งแวดล้อม และแนวทางการจัดทำกฎระเบียบที่ดี
1.3.10 ร่างรายงานการประเมินของคณะค้นหาความจริงเยือนติมอร์-เลสเตของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Assessment Report of the ASEAN Economic Community (AEC) Fact-Finding Mission (FFM) to Timor-Leste) – เป็นรายงานการประเมินเชิงลึกเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินงานในด้าน ต่างๆ ของติมอร์-เลสเตเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน พลังงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนขีดความสามารถด้านทรัพยากรบุคคล ความท้าทายที่ติมอร์-เลสเตกำลังเผชิญ และประเด็นที่ต้องปรับปรุง รวมทั้งข้อเสนอแนะในการดำเนินการต่อไปในส่วนของเสาเศรษฐกิจ
2. การแสดงท่าทีไทยในการประชุมฯ ได้แก่ 2.1 การประกาศสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) อย่างมีนัยสำคัญ และ 2.2 การประกาศจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (JC) ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย
ทั้งนี้ ร่างเอกสารทั้ง 12 ฉบับภายใต้ข้อ 1 และท่าทีไทยในข้อ 2 มีสาระไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 6 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9253