แนวทางการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 30 August 2022 23:26
- Hits: 3496
แนวทางการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งรับความเห็นหน่วยงานต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบ ก่อนดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เรื่องนี้เป็นการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานของรัฐเข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตามแนวทางการให้ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทน ทย. ของกระทรวงคมนาคม (คค.) โดยเป็นการดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ซึ่งต่อมา คค. ได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ถึงประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดย คค. เห็นว่า การมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการท่าอากาศยานที่ดำเนินการโดย ทย. จำนวน 3 แห่ง เพื่อให้ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการแทน โดยมิใช่เป็นเรื่องการโอนส่วนราชการหรือกิจการของรัฐไปให้ ทอท. ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เป็นแนวทางที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ ภายใต้แนวทางดังกล่าว คค. ได้ศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครือข่ายการบิน ศักยภาพของทำเลที่ตั้ง ความพร้อมด้านกายภาพและห้วงอากาศของท่าอากาศยานและศักยภาพทางการตลาด จึงได้ปรับลดและเปลี่ยนแปลงท่าอากาศยานที่จะให้ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ เหลือจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และทำอากาศยานกระบี่ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เห็นว่า กรณีจึงเป็นเรื่องทางนโยบายซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ตามที่เห็นสมควร
2. ข้อเสนอของ คค. มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศ (Air Space) และโครงข่ายท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเป็นไปตามแนวทางการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวม (National Airport System) และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานของประเทศไทย สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ อีกทั้งการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ในอนาคต ทั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ในการเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวม (National Airport System) และประสิทธิภาพของการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศ (Air Space) ตามความเห็นของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
การกำหนดบทบาทท่าอากาศยานของท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งและรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ
ท่าอากาศยาน |
บทบาทท่าอากาศยาน |
รูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ ภายใต้ ทอท. |
อุดรธานี |
จาก ท่าอากาศยานระดับภาค เป็น ท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง |
Cluster ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีท่าอากาศยานใน Cluster 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ |
บุรีรัมย์ |
จาก ท่าอากาศยานระดับจังหวัด เป็น ท่าอากาศยานระดับภาค |
|
กระบี่ |
เป็น ท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง |
Cluster ภาคใต้ มีท่าอากาศยาน ใน Cluster 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ |
นอกจากนี้ ทอท. ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานแต่ละแห่งเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตให้มีระดับมาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยตามที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) กำหนด โดยได้วางแผนพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องจากที่ ทย. ได้ดำเนินการไว้ ซึ่งจะทำให้ ทอท. สามารถรักษาระดับการให้บริการของท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย ทั้งนี้ แผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการปี 2574) หรือประมาณ 10,471.50 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ) ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณการลงทุนของภาครัฐที่จะต้องจัดสรรให้กรมท่าอากาศยานตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานได้อย่างมีนัยสำคัญ
3. สำหรับการดำเนินการเพื่อให้ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทน ทย. นั้น ทอท. ได้กำหนดแนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยาน การจัดการทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) การบริหารจัดการด้านบุคลากร การดำเนินการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และการดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณของ ทย. ที่ได้รับจัดสรรแล้ว โดยเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 30 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A81164