การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้ง วัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 August 2022 00:16
- Hits: 3261
การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้ง วัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอพิจารณารับรองวัดคาทอลิกเป็น วัดคาทอลิกตามกฎหมาย จำนวน 9 วัด ดังนี้ (1) วัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน) (2) วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ (ลาดพร้าว) (3) วัดนักบุญโธมัสอัครสาวก (ซอยนาคสุวรรณ) (4) วัดพระเมตตา (เชียงแสน) (5) วัดพระแม่แห่งมวลชนนานาชาติ (เชียงของ) (6) วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล (เชียงคำ) (7) วัดนักบุญมอนิกา (น่าน) (8) วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร (แพร่) และ (9) วัดพระแม่มหาการุณย์ (แคมป์สน) ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 สิงหาคม 2565) เป็นต้นไป และ ให้ วธ. รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
วธ. รายงานว่า
1. หลังจาก พ.ศ. 2472 ไม่มีการประกาศจัดตั้งหรือรับรองวัดคาทอลิกเพิ่มเติม เนื่องจากมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยงานราชการขึ้นหลายครั้ง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาจัดตั้งหรือรับรอง วัดคาทอลิกเป็นของหน่วยงานใด ประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณฐานะ ของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกใน กรุงสยามตามกฎหมายไม่ได้กำหนดขั้นตอนหรือแนวทางในการขอจัดตั้งหรือขอให้รับรองวัดคาทอลิกไว้ ซึ่งต่อมา จำนวนคริสต์ศาสนิกชนได้เพิ่มขึ้นครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งวัดคาทอลิกเพิ่มขึ้นเพื่อให้คริสต์ศาสนิกชนใช้ในการประกอบศาสนกิจ โดยนำไปสู่การจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 (ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564) เพื่อกำหนดแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งและรับรองวัดคาทอลิกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกำหนดให้กรมการศาสนา วธ. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิกซึ่งทำหน้าที่รับ ตรวจสอบ และเสนอคำขอจัดตั้งและคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกต่อคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็น ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่า การกระทรวงวัฒนธรรมและคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองตามระเบียบดังกล่าว เนื่องจากเป็นระยะแรกของการดำเนินการ
2. ภายหลังจากที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 วธ. (กรมการศาสนา) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิกได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ช่วยเลขานุการ (2) แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 และลงพื้นที่วัดคาทอลิกเพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก และ (3) จัดการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก (คณะกรรมการฯ) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน) เพื่อกำหนดแบบเอกสารสำหรับปฏิบัติงานตามระเบียบ และพิจารณาคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกที่ได้รับจากมิซซังเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมประกอบการพิจารณารับรองวัดคาทอลิก
3. คณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ได้พิจารณาคำขอให้รับรองวัดคาทอลิก ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในข้อที่ 15 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย (1) ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองวัดคาทอลิกจาก สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย (สภาประมุขฯ) (2) มีข้อมูลที่ตั้งวัด (3) มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน (4) มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ (5) มีข้อมูลอื่น ที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น คุณค่าและประโยชน์ของวัดคาทอลิก การอุปถัมภ์และทำนุบำรุงจาก ภาคส่วนต่างๆ และมีมติให้เสนอคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกทั้ง 9 วัด ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 ข้อ 16
4. รายละเอียดของวัดคาทอลิก จำนวน 9 วัด สรุปได้ ดังนี้
ชื่อวัด |
ได้รับ การรับรองจาก สภาประมุขฯ |
ที่ตั้งวัด |
ที่ดินที่ตั้งวัด |
จำนวน บาทหลวง ประจำวัด |
ข้อมูลอื่นที่จำเป็น |
1. วัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน) |
√ |
เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) |
9 ไร่ 1 งาน 10.4 ตารางวา |
2 ท่าน |
1. มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบศาสนพิธีและการพำนัก 2. มีสถานที่ สิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ ซึ่งจำเป็นแก่การประกอบศาสนกิจและการพำนักครบถ้วน 3. วัดมีคุณค่าและประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชนในด้านศาสนาและสังคม 4. วัดได้รับการอุปถัมภ์และทำนุบำรุงวัดจากภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง 5. วัดได้ดำเนินงานตามภารกิจของมิซซังในด้านต่างๆ เช่น ด้านอภิบาลคริสตชนและด้านเผยแผ่ธรรม |
2. วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ (ลาดพร้าว) |
√ |
เขตวังทองหลาง กทม. |
2 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา |
1 ท่าน |
|
3. วัดนักบุญโธมัสอัครสาวก (ซอยนาคสุวรรณ) |
√ |
เขตยานนาวา กทม. |
1 งาน 0.8 ตารางวา |
2 ท่าน |
|
4. วัดพระเมตตา (เชียงแสน) |
√ |
อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย |
1 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา |
2 ท่าน |
|
5. วัดพระแม่แห่งมวลชนนานาชาติ (เชียงของ) |
√ |
อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย |
15 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา |
3 ท่าน |
|
6. วัดพระแม่ปฏิสนธินิรมล (เชียงคำ) |
√ |
อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา |
7 ไร่ 2 งาน |
1 ท่าน |
|
7. วัดนักบุญมอนิกา (น่าน) |
√ |
อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน |
4 ไร่ 2 งาน 28.8 ตารางวา |
1 ท่าน |
|
8. วัดนักบุญยอแซฟ กรรมกร (แพร่) |
√ |
อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ |
19 ไร่ 1 งาน 46.9 ตารางวา |
1 ท่าน |
|
9. วัดพระแม่มหาการุณย์ (แคมป์สน) |
√ |
อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ |
2 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา |
2 ท่าน |
5. ผลประโยชน์จากการรับรองวัดคาทอลิก สรุปได้ ดังนี้
5.1 ความมั่นคงด้านศาสนจักร วัดคาทอลิกเป็นองค์ประกอบหลักและเป็นศูนย์รวม การประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมของศาสนิกชนในวาระสำคัญต่างๆ ตามหลักศาสนบัญญัติ ซึ่งการรับรองวัดคาทอลิกจะทำให้วัดสามารถคงอยู่และสร้างความเชื่อมั่นแก่คริสต์ศาสนิกชนได้
5.2 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน เช่น โครงการเงินอุดหนุนกิจกรรมบูรณะศาสนสถาน
5.3 สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยวัดคาทอลิกได้รับ การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีจากเงินที่บริจาคให้แก่วัด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8914