รายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ประจำปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 August 2022 00:05
- Hits: 3260
รายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ประจำปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเสนอ รายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ประจำปี 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มาตรา 36 ที่บัญญัติให้กองทุนฯ ทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี (ครบกำหนดวันที่ 29 มีนาคม 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลงานเด่นในปี 2564 ประกอบด้วย (1) การทำงานสร้างเสริมสุขภาวะในสถานการณ์ “โควิด-19” เช่น สื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และพัฒนาศักยภาพชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้ในภาวะวิกฤต (2) พัฒนาเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ สู่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะ” เช่น สร้างเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ และพัฒนาหลักสูตร/กระบวนการการเรียนรู้เพื่อสังคมสุขภาวะ (3) “ปฏิบัติการเมืองเชียงใหม่” แก้ไขวิกฤต PM 2.5 มหันตภัยที่มองไม่เห็น เช่น ผลักดันการลดการเผาภาคเกษตร จัดทำแนวกันไฟชุมชน และสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพจากฝุ่นละอองให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียน 30 โรง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน และ (4) ยกระดับชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง “รู้รับปรับตัว” เช่น พัฒนาสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นจนเกิดเครือข่ายสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น 1,015 คน จาก 130 ตำบล และเกิดต้นแบบการพัฒนางาน ของชุมชนท้องถิ่นที่สามารถจัดการปัญหาได้จริง
2. ผลการดำเนินงานสำคัญตามเป้าประสงค์ 6 ประการ ดังนี้
แผนงาน |
ผลการดำเนินงาน เช่น |
|
เป้าประสงค์ที่ 1 ลดปัจจัยเสี่ยงหลัก ประกอบด้วย 5 แผนงาน |
||
1. แผนควบคุมยาสูบ |
(1) พัฒนาคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติงานควบคุมยาสูบตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ให้มีทักษะการปฏิบัติงานควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ (2) พัฒนาข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของยาสูบ 177 เรื่อง โดยถูกพัฒนาเป็นนโยบายด้านการควบคุมยาสูบ 2 เรื่อง คือ การศึกษาประเมินความคุ้มค่าและภาระงบประมาณของการบริการให้คำปรึกษาเลิกยาสูบของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติและการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ |
|
2. แผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด |
(1) สนับสนุนการพัฒนาร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2565-2570 และ (2) ขยายพื้นที่ต้นแบบงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ โควิด – 191 |
|
3. แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม |
(1) พัฒนาให้แผนปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 มีการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน (2) พัฒนากลไกการป้องกันอุบัติเหตุในระดับอำเภอครอบคลุมพื้นที่ 101 อำเภอ 27 จังหวัด และ (3) สร้างการรับรู้ให้ตระหนักถึงภัยพิบัติซ้ำซ้อนและเตรียมความพร้อมชุมชนจัดการภัยพิบัติในพื้นที่นำร่อง 11 จังหวัด รวมถึงพัฒนาต้นแบบศูนย์ภัยพิบัติชุมชนจากความร่วมมือในระดับตำบล 33 แห่ง |
|
4. แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 2 |
(1) พัฒนาฐานข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายที่นำไปพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศและระดับสากล และ (2) พัฒนาแอปพลิเคชัน “เบาใจ” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่วนบุคคลเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาวะ ในชีวิตประจำวัน |
|
5. แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ |
(1) ขับเคลื่อนการลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม (2) สร้างกติกากลาง ในภาคอุตสาหกรรมร่วมปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในอาหาร และ (3) สนับสนุนการผลักดันให้ประกาศการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพในกลุ่มเครื่องดื่ม 5 ชนิด3 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งนี้ มีผลิตภัณฑ์ได้รับสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ รวม 2,305 ผลิตภัณฑ์ |
|
เป้าประสงค์ที่ 2 พัฒนากลไกที่จำเป็นเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอื่นๆ ประกอบด้วย 3 แผนงาน |
||
1. แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ |
(1) พัฒนาองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนกลไกงานคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงการระบาดของโควิด-19 และช่วยสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน จำนวน 2 ประเด็น คือ “เท่าทันโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในช่วงโควิด-19” และ “ประกันภัยโควิด-19” และ (2) สนับสนุนการเฝ้าระวังและการจัดการปัญหาสินค้าที่ไม่ปลอดภัยผ่านเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดยสามารถจัดการเรื่องร้องเรียนได้สำเร็จ ร้อยละ 79.07 (เป็นเรื่องอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการสุขภาพ) |
|
2. แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว |
(1) สนับสนุนการผลักดันนโยบาย “เด็กไทย เล่นเปลี่ยนโลก” 4 สามารถพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 787 แห่งทั่วประเทศ (2) พัฒนากระบวนการเรียนรู้ส่งเสริมให้ พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ครูและนักพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้เรื่องการเลี้ยงดูและการพัฒนาเด็กเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 75.40 และ (3) พัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นส่งผลให้กลุ่มเป้าหมาย (เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น จำนวน 1,635 คน) มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 89.48 เช่น กิจกรรมทางกายด้านนันทนาการและการกีฬา จากเดิมที่ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือในการเล่นสื่อสังคมออนไลน์และเกมออนไลน์ |
|
3. แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ |
(1) สร้างกลไกสนับสนุนการมีงานทำของคนพิการอย่างมีส่วนร่วม โดยสนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมสร้างโอกาสและอาชีพคนพิการไทย ช่วยจับคู่ การจ้างงาน คนพิการและสถานประกอบการกว่า 3,000 คน (2) พัฒนาเครื่องมือสื่อสารการดูแลตัวเองช่วงโควิด-19 สำหรับแรงงานต่างชาติ 11 ภาษา รวม 189 ชิ้น และ (3) พัฒนาแพลตฟอร์ม “ระบาย” ต้นแบบพื้นที่ออนไลน์ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามทางเพศร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา |
|
เป้าประสงค์ที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถเชิงสถาบัน บทบาทชุมชน และองค์กร ประกอบด้วย 2 แผนงาน |
||
1. แผนสุขภาวะชุมชน |
(1) เสริมสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้สามารถปรับตัวและตั้งรับ ต่อผลกระทบจากสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์วิกฤต 98 แห่ง และมีตำบล นำร่องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดการสุขภาวะชุมชน 20 แห่ง ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ระบบอาสาทำดีให้ทุกคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี ระบบบริการสาธารณะท้องถิ่นที่เชื่อมโยงบริการสาธารณะต่างๆ ในท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างเต็มที่ และระบบสนับสนุนแผนชุมชนและการมีส่วนร่วมให้ชุมชนสามารถติดตามโครงการต่างๆ รวมถึงการจัดทำแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม และ (2) พัฒนา “ตำบลน่าอยู่” ที่สามารถตอบสนองต่อแนวนโยบายในสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์วิกฤต เกิดเป็นรูปแบบการจัดการกับโรคระบาดจนเป็น วิถีของชุมชนท้องถิ่น 681 แห่ง |
|
2. แผนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร |
(1) สนับสนุนการยกระดับองค์กรสุขภาวะสู่ “องค์กรธุรกิจคุณธรรม” ได้ 144 องค์กร และ “องค์กรคุณธรรมต้นแบบ” 50 องค์กร และ (2) พัฒนาให้เกิดนักส่งเสริมคุณธรรมภาคธุรกิจ 432 คน จาก 286 องค์กร ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานดีขึ้น |
|
เป้าประสงค์ที่ 4 สร้างค่านิยมและโอกาสการเรียนรู้ ประกอบด้วย 2 แผนงาน |
||
1. แผนระดับสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา |
(1) พัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะและผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้สามารถนำทักษะไปใช้ดำเนินกิจกรรมสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ และ (2) พัฒนากระบวนการสื่อสารเพื่อสุขภาวะในช่วงโควิด-19 เช่น จัดทำการ์ดเพื่อนใจ เพื่อพัฒนาและสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง ซึ่งมีหลายองค์การนำไปใช้และเผยแพร่ เช่น สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและจัดทำชุดนิทานสร้างเสริมสุขภาพประเด็นป้องกันโควิด-19 |
|
2. แผนสร้างเสริมความเข้าใจ สุขภาวะ |
(1) พัฒนาระบบสารสนเทศสุขภาพ “สื่อเฉพาะคุณ” เพื่อช่วยการเข้าถึงข้อมูลที่สอดคล้องกับชีวิตและพฤติกรรม และ (2) พัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนสุขภาพจิตเยาวชน “CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ” ซึ่งเป็นชุมซนออนไลน์ผ่าน Facebook เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน แบ่งปันเรื่องราว และ ส่งมอบพลังบวกให้กำลังใจซึ่งกันและกัน |
|
เป้าประสงค์ที่ 5 ขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพการสร้างนวัตกรรมสุขภาวะ ประกอบด้วย 1 แผนงาน |
||
แผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ |
(1) พัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ 253 คน สามารถผลิตต้นแบบนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย 102 ชิ้นงาน เช่น โปรแกรมพัฒนาความเมตตากรุณาต่อตนเองในรูปแบบออนไลน์ที่จะช่วยให้วัยรุ่นรู้จักตัวเองมากขึ้น และสอนวิธีการฟื้นความเมตตากรุณาต่อตนเองที่มักจะถูกหลงลืมไปให้กลับคืนมา และเครื่องมือช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ในการเรียนออนไลน์ ชื่อ “Alexcher” ให้การเรียนออนไลน์น่าสนใจและลดความตึงเครียด และ (2) กลุ่มเด็ก/เยาวชนกลุ่มเป้าหมายสามารถผลิตสื่อดิจิทัลสร้างเสริมสุขภาวะเผยแพร่ผ่านออนไลน์ 11 ชิ้นงาน ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีประชาชนเข้าถึงข้อมูลกว่า 275,000 คน |
|
เป้าประสงค์ที่ 6 ส่งเสริมสมรรถนะของระบบบริการสุขภาพและระบบสนับสนุน ประกอบด้วย 2 แผนงาน |
||
1. แผนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ |
(1) พัฒนาต้นแบบ “ระบบสุขภาพอำเภอที่พึงประสงค์” ขับเคลื่อน 6 ประเด็นสุขภาพ (ประเด็นยาเสพติด โควิด-19 การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน อาหารปลอดภัย ผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง และขยะและสิ่งแวดล้อม) ใน 12 อำเภอ และ (2) สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเขตเมืองในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีโครงการนำร่อง 1 เขต คือ เขตพระโขนง เรียกว่า “พระโขนงโมเดล” โดยมีรูปแบบการจัดบริการทางสังคมและสุขภาพเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในกลุ่มผู้สูงอายุตามบริบทสังคมเมือง กทม. |
|
2. แผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ |
(1) พัฒนากลไกเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ และ (2) พัฒนาหลักสูตรเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย เช่น หลักสูตร การออกแบบการเรียนรู้เชิงรุกแบบออนไลน์และการใช้กลไกเกม และหลักสูตรแนวทางการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน มีผู้ได้รับประโยชน์ 3,128 คน |
3. การตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานในปี 2564
3.1 ผลการดำเนินงานในภาพรวมของกองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้คะแนน 4.88 คะแนน (คะแนนเต็ม 5 คะแนน) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ. 2561-2563) ที่ได้ 4.72 คะแนน นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังมีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ได้คะแนนเฉลี่ย 9.35 คะแนน (คะแนนเต็ม 10 คะแนน) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2563 ที่ได้ 9.65 คะแนน ขณะที่การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ได้รับผลการประเมิน 93.68 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับ “A” โดยได้คะแนนในภาพรวมสูงขึ้นกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และสูงกว่าผลประเมินภาพรวมระดับประเทศ (ผลคะแนนเฉลี่ย 81.25 คะแนน)
3.2 รายงานผลการตรวจสอบงบการเงินของกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรายงานการเงินของกองทุนฯ และรับรองรายงานการเงินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นว่า รายงานการเงินฯ ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
รายการ |
ปี 2564 |
ปี 2563 |
เพิ่มขึ้น/(ลดลง) |
1. งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 |
|||
รวมสินทรัพย์ |
2,754.19 |
2,192.15 |
562.01 |
รวมหนี้สิน |
269.98 |
198.57 |
71.41 |
รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน |
2,484.18 |
1,993.58 |
490.60 |
2. งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2564 |
|||
รวมรายได้ |
4,262.82 |
4,334.82 |
(72.00) |
รวมค่าใช้จ่าย |
3,788.50 |
3,874.75 |
(86.25) |
รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ |
474.32 |
460.07 |
14.25 |
____________
1เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจความสำคัญของการจัดงานปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ เจ้าภาพจัดงาน หน่วยงาน ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมไทยในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2กิจกรรมทางกาย คือ การขยับเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการใช้และเผาผลาญพลังงานโดยกล้ามเนื้อ อันครอบคลุมการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเดินทาง กิจกรรมนัทนาการ การทำงานบ้าน การปั่นจักรยาน และการเล่นกีฬา
3กลุ่มเครื่องดื่ม 5 ชนิด ได้แก่ (1) น้ำผักผลไม้ น้ำอัดลม และน้ำหวานกลิ่นรสต่างๆ (2) เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ และมอลต์สกัด (3) ชาปรุงสำเร็จ (4) กาแฟปรุงสำเร็จ และ (5) น้ำนมถั่วเหลืองและน้ำธัญพืช
4นโยบาย “เด็กไทย เล่นเปลี่ยนโลก” จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ไปที่กลุ่มเป้าหมายที่ตัวเด็กโดยตรง ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยอาศัยความร่วมมือของคนในท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุนมนุษย์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8913