ขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 23 August 2022 23:53
- Hits: 3282
ขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ) จำนวน 2,923.397 ล้านบาท
2. รับทราบแนวทางการดำเนินงานตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565 [ในส่วนของมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เงินอุดหนุน)]
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน1 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ภาครัฐตั้งไว้ และเพื่อให้เงินอุดหนุนและส่วนลดทางภาษีต่างๆ ตกสู่ประชาชนอย่างแท้จริง กค. โดยกรมสรรพสามิตจึงได้ดำเนินการออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิในส่วนของมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เงินอุดหนุน) ตลอดจนบทลงโทษในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขของมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ที่ผู้ขอเข้าร่วม (ผู้ขอรับสิทธิ) ตามมาตรการจะต้องดำเนินการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนสรุปได้ ดังนี้
1.1.1 ผู้ขอเข้าร่วมมาตรการต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตข้างต้น กำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น และต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้
1.1.2 ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องยื่นขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่างๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ
1.1.3 เมื่อผู้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ได้รับสิทธิให้แก่ผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว จะต้องดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าคันดังกล่าว เพื่อส่งให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป
1.1.4 กรมสรรพสามิตดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานพร้อมประเมินเงินอุดหนุนทั้งหมดในไตรมาสนั้นๆ เพื่อดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณหากได้รับการอนุมัติ ก็จะดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้รับสิทธิต่อไป
1.1.5 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุนดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคันตามจำนวนที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารที่ วางไว้
1.2 การให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ |
จำนวนเงินอุดหนุน (บาท/คัน) |
1) กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท 1.1) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง 1.2) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป |
70,000
150,000 |
2) กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) |
150,000 |
3) กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท |
18,000 |
2. กค. โดยกรมสรรพสามิตได้ประมาณการค่าใช้จ่ายโดยใช้เกณฑ์การให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ (ตามข้อ 1.2) และได้มีหนังสือไปยัง สงป. เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ ซึ่ง สงป. ได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ กค. โดยกรมสรรพสามิตใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และให้ กค. โดยกรมสรรพสามิตจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมทั้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายเพื่อทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป และให้ กค. นำเรื่องดังกล่าวเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) ต่อไป
3. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ ยานยนต์ไฟฟ้าฯ จำนวน 5 ราย2 แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,800 คัน โดยมีแผนการใช้ง่ายงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปได้ ดังนี้
แผนการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2565 |
จำนวนเงิน (ล้านบาท) |
1. เงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ |
2,873.400 |
1.1 รถยนต์ (18,100 คัน x เงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท) |
2,715.000 |
1.2 รถจักรยานยนต์ (8,800 คัน x เงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท) |
158.400 |
2. เงินสำหรับโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ |
49.997 |
รวมทั้งสิ้น |
2,923.397 |
__________________
1เครื่องยนต์สันดาปภายใน คือ เครื่องยนต์ที่มีการระเบิดหรือเผาไหม้ส่วนผสมของเชื้อเพลิง ซึ่งหมายถึงน้ำมันรถยนต์กับอากาศที่เกิดขึ้นภายในเครื่องยนต์ แล้วเกิดการออกซิไดซ์ (Oxidizing) กระทั่งมีการขยายตัว จนแตกตัวภายในห้องเผาไหม้ ทำให้แรงระเบิดจากการเผาไหม้จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน ซึ่งเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในได้พลังงานจากการระเบิดดังกล่าวมาใช้ขับเคลื่อนตัวรถยนต์
2ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ จำนวน 5 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท เอสเอไอชี มอเตอร์ - ชีพี จำกัด (MG) บริษัท เกรา วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (GWM) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TOYOTA) บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด (NETA) และผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ จำนวน 1 ราย ได้แก่ บริษัท เตโก้ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (Deco Green)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8912