ขออนุมัติปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 23 August 2022 23:18
- Hits: 3507
ขออนุมัติปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเดิมได้อนุมัติราคารับซื้อน้ำนมโค 19 บาท/กิโลกรัม โดยขอปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมโคเป็น 20.50 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) อนุญาตให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในตลาดนมพาณิชย์ได้ โดยให้ พณ. พิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมพาณิชย์) ให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ประกอบการ ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการปรับเพิ่มหรือลดราคารับซื้อน้ำนมดิบหลายครั้ง โดยการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบครั้งล่าสุด เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งได้อนุมัติราคารับซื้อน้ำนมดิบเป็น 19 บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกประกอบกับวิกฤตพลังงานสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนือง คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม (รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 จึงได้พิจารณากำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบในปี 2565 จากต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และต้นทุนการบริหารจัดการศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โดยมีมติ ดังนี้
ราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ ปี 2565 |
ราคาเดิม (บาท/กิโลกรัม) |
ราคาใหม่ (บาท/กิโลกรัม) |
หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ |
17.50 |
19.75 ปรับขึ้น 2.25 บาท/กิโลกรัม |
หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม |
19.00 |
21.25 ปรับขึ้น 2.25 บาท/กิโลกรัม |
2. ต่อมาคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน) ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
2.1 เห็นชอบปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ ดังนี้
2.1.1 หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จาก 17.50 บาท กิโลกรัม เป็น 17.75บาท/กิโลกรัม (ตามมติคณะอนุกรรมการฯ) โดยมอบหมายกรมปศุสัตว์จัดทำโครงการ1 เพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกร อีก 0.75 บาท/กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน
2.1.2 หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม จาก 19 บาท/กิโลกรัม เป็น 20.50 บาท/กิโลกรัม (ข้อเสนอของ กษ. ในครั้งนี้) ซึ่งปรับราคาลดลงจากมติคณะอนุกรรมการฯ ที่เสนอที่ 21.25 บาท/กิโลกรัม
2.2 ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาทบทวนการกำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ภายใน 3 เดือน หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติในเรื่องนี้
2.3 ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ เสนอเรื่องขออนุมัติปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้จัดทำประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง ราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและราคาหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมต่อไป
2.4 ให้ พณ. พิจารณาแนวทางในการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตและราคาอาหารสัตว์ และพิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมพาณิชย์) ให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ประกอบการ
3 กษ. แจ้งว่า การปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ จะส่งผลกระทบ 2 ด้าน ดังนี้
3.1 ผลผลิตน้ำนมโค
ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประมาณ 20,000 ฟาร์มทั่วประเทศ มีภาระค่าใช้จ่ายประจำ ได้แก่ ค่าจ้างแรงงานในการรีดนม ค่าอาหารซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการเลี้ยงโคนม และค่าขนส่งน้ำนมดิบไปยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบหรือโรงงานแปรรูปซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาวัตถุดิบสำหรับการเลี้ยงโคนม เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เกษตรกรขนาดเล็กหลายรายไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นวงกว้าง และอาจกระทบต่อการจ้างงานในระบบจำนวนกว่า 120,000 ราย ดังนั้น การปรับเพิ่มราคาน้ำนมโคจะช่วยให้อาชีพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรอยู่รอดต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้การสนับสนุนการจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรด้วย ตลอดจนการปรับเกณฑ์การให้ราคาตามคุณภาพหรือองค์ประกอบของน้ำนมโคซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีการพัฒนาคุณภาพน้ำนมโคเพื่อให้มีกำไรเพิ่มสูงขึ้น
3.2 ตลาดนมพาณิชย์
การปรับเพิ่มราคาน้ำนมโค 1.50 บาท/กิโลกรัม หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในตลาดนมพาณิชย์ต้องปรับราคาจำหน่ายตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขนาดบรรจุที่จำหน่ายมากที่สุด ขนาด 250 มิลลิลิตร จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณกล่องละ 0.40 บาท ทั้งนี้ เชื่อว่าในระยะแรกจะมีผลกระทบแต่ไม่มากนัก เนื่องจากนมพร้อมดื่มเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตปรับราคาจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน) ก่อน และที่ผ่านมาน้ำนมโคที่รับซื้อ ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมโคส่วนใหญ่จะถูกหักราคามากกว่า2 ซึ่งจะเป็นการจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพนมให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เช่น มาตรฐาน “พรีเมียม” ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข3 โดยผลิตภัณฑ์นมประเภท “พรีเมียม” จะไม่ถูกควบคุมราคาโดย พณ. ผู้ประกอบการจึงสามารถรับซื้อน้ำนมดิบในราคาที่สูงขึ้นได้
_____________________
1กษ. แจ้งว่า จะดำเนินการออกประกาศปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เป็น 19 บาท/กิโลกรัม และหากรวมกับโครงการเพื่อให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรฯ เป็นกรณีพิเศษเพิ่มอีก 0.75 บาท/กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน จะทำให้ราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เป็น 19.75 บาท/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำโครงการซึ่งอาจมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณต่อไป
2ราคารับซื้อน้ำนมโคดิบอาจมีส่วนต่างราคาที่มากกว่าหรือน้อยกว่าราคากลาง ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำนมโคดิบที่รับซื้อในแต่ละครั้ง
3ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 366) พ.ศ. 2556 เรื่อง การแสดงข้อความ “พรีเมียม” บนฉลากน้ำนมโคสด และน้ำนมโคชนิดเต็มมันเนยที่ผ่านกรรมวิธีพาสเจอร์ไรส์ ซึ่งระบุรายละเอียดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของน้ำนมโคดิบ สถานที่รวบรวมน้ำนมโคดิบ และสถานที่ผลิตน้ำนมโคสด ที่สามารถแสดงข้อความ “พรีเมียม” หรือ “Premium” บนฉลากน้ำนมโคสด และน้ำนมโคชนิดเต็มมันเนยที่ผ่านกรรมวิธีพาสเจอร์ไรส์ได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8906