WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของไทยวาระปี ค.ศ. 2025 -2027

GOV4 copy

การสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของไทยวาระปี .. 2025 -2027

        คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของไทย (United Nations Human Rights Council: HRC) วาระปี .. 2025 - 2027 (.. 2568 - 2570) ซึ่งมีกำหนดการเลือกตั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2567 สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และร่างคำมั่นโดยสมัครใจของไทยประกอบการสมัครสมาชิก HRC ทั้งนี้ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ มีกำหนดจัดงานเปิดตัวการสมัครเลือกตั้งสมาชิก HRC ของไทยระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 77 (เดือนกันยายน 2565) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

      1. การลงสมัครสมาชิก HRC ของไทยวาระปี .. 2025 - 2027

             1.1 HRC จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 เพื่อเป็นกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลที่มีหน้าที่สอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก พยายามหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น สร้างบรรทัดฐานของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ โดย HRC มีสมาชิก 47 ประเทศ จาก 5 ภูมิภาค ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีโควตา 13 ประเทศ และการเลือกตั้งสมาชิก HRC จะทำด้วยการลงคะแนนลับโดยสมาชิกสหประชาชาติ ทั้งนี้ ไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 – 2556 และมีบทบาท เช่น เป็นประเทศสายกลางและเป็นสะพานเชื่อมในการแสวงหาท่าทีร่วมของประเทศ ต่างๆ ต่อสถานการณ์วิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของโลก ผลักดันแนวทางที่สร้างสรรค์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผ่านความร่วมมือทางเทคนิคและการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสิทธิมนุษยชน และแสดงบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมสิทธิด้านต่างๆ (เช่น สิทธิด้านการศึกษา สิทธิด้านสาธารณสุข และสิทธิของกลุ่มเปราะบาง) ทั้งนี้ ไทยได้ลงสมัครสมาชิก HRC วาระปี 2558 - 2560 ด้วย แต่มิได้รับเลือกตั้งไทยจึงว่างเว้นจากการเป็นสมาชิก HRC มาแล้วเกือบ 10 ปี

             1.2 HRC มีกลไกส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหลัก 4 กลไก ได้แก่ (1) การประชุมสมัยปกติและการประชุมสมัยพิเศษ โดย HRC จะจัดการประชุมสมัยปกติปีละ 3 ครั้ง (ช่วงเดือนมีนาคม มิถุนายน และกันยายน) และการประชุมสมัยพิเศษหากมีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน (2) กลไกพิเศษ เป็นกลไกติดตามและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศและรายประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยบุคคลหรือกลุ่มคนที่ได้รับการแต่งตั้ง (3) กระบวนการรับและพิจารณาข้อร้องเรียน เป็นกลไกของ HRC ในการรับและพิจารณาข้อร้องเรียนแบบลับเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรง ต่อเนื่อง และเป็นระบบเท่านั้น และ (4) กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review: UPR) เป็นกลไกที่ให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างกัน โดยพิจารณาจากรายงานประเทศที่จัดทำขึ้นโดยประเทศที่เข้าสู่กระบวนการฯ สหประชาชาติและภาคประชาสังคม โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ไทยได้เสนอรายงานประเทศฯ ตามกลไก UPR รอบที่ 3 พร้อมทั้งประกาศคำมั่นโดยสมัครใจทั้งหมด 8 ข้อ และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยได้แจ้งตอบรับข้อเสนอแนะรวมทั้งหมด 218 ข้อ และรับทราบ (ไม่ตอบรับ) 60 ข้อ จากข้อเสนอแนะที่ไทยได้รับมาทั้งหมด 278 ข้อ โดยปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการ ตามข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับและคำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก UPR รอบที่ 3

 

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

 

             1.3 การลงสมัครสมาชิก HRC อีกครั้งของไทยจะเป็นการเน้นย้ำบทบาทและความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลังจากการดำรงตำแหน่ง HRC ครั้งล่าสุด ไทยมีความก้าวหน้าในท่าทีและการปฏิบัติในหลายด้านซึ่งสอดรับกับพัฒนาการของกรอบความคิดด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ความคืบหน้าในการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน การผลักดันกฎหมายภายในเพื่อรองรับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน การประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติระหว่างปี 2561 - 2562 นอกจากนี้ ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในความพยายามส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพ และคุ้มครองสิทธิทางสังคมให้กับกลุ่มเปราะบางท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโลกที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากไทยได้รับเลือกตั้งจะเป็นการแสดงถึงการได้รับความไว้วางใจจากประชาคมระหว่างประเทศและมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในเวทีที่เป็นเสาหลักของสหประชาชาติ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นจังหวะเวลาที่สำคัญเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์และความท้าทายในเวทีโลกปัจจุบันที่ไทยควรเข้าไปร่วมมีบทบาทในการกำหนดวาระและทิศทางการหารือในเวทีระหว่างประเทศดังกล่าวเพื่อผลักดันประเด็นที่สอดคล้องกับหลักการและผลประโยชน์ของประเทศไทย ทั้งนี้ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ มีกำหนดจัดงานเปิดตัวการสมัครเลือกตั้งสมาชิก HRC ของไทยระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 77 (เดือนกันยายน 2565)

        2. ร่างคำมั่นโดยสมัครใจของไทยประกอบการสมัครสมาชิก HRC ข้อมติสหประชาชาติที่ 60/251 กำหนดให้ประเทศที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิก HRC จะต้องจัดทำเอกสารคำมั่นโดยสมัครใจที่จะดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้าในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ หากได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC ซึ่ง กต. ได้จัดทำร่างคำมั่นโดยสมัครใจดังกล่าวแล้ว โดยมีสาระในเชิงนโยบายและหลักการภาพกว้างของสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ อย่างครอบคลุม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำมั่นในกรอบอื่นๆ ที่ไทยเคยให้ไว้แล้ว เน้นความกระชับ สร้างสรรค์ และสะท้อนความร่วมมือ เช่น (1) ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อพัฒนาและทบทวนกฎหมาย นโยบาย และระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี และรับรองการดำเนินการในประเทศให้มีประสิทธิภาพ (2) ส่งเสริมความโปร่งใส ความเป็นอิสระ และประสิทธิภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามหลักการปารีส และ (3) ร่วมมือกับหน่วยงานของสหประชาชาติและหุ้นส่วนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค โดยเฉพาะในด้านสิทธิเด็ก สิทธิสตรี และคนพิการ โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้นำร่างเอกสารคำมั่นโดยสมัครใจฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดทำรายงานประเทศและติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะภายใต้กลไก UPR เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 แล้ว และได้ปรับร่างเอกสารคำมั่นโดยสมัครใจตามข้อคิดเห็นที่ได้รับจากที่ประชุมทั้งสองด้วยแล้ว โดยร่างคำมั่นฯ ไม่เข้าข่ายการจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่อย่างใด

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A8899

 Click Donate Support Web  

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!