ขออนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 ของกรมประมง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 August 2022 23:26
- Hits: 3121
ขออนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 ของกรมประมง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมประมงยืมเพื่อไปดำเนินการตามโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 ของกรมประมง มีกำหนดชำระคืนภายใน 3 ปี ระยะเวลาโครงการ พ.ศ. 2565 ถึง พ.ศ. 2567 โดยอนุมัติวงเงิน จำนวน 510 ล้านบาท เป็นเงินยืม (เงินหมุนเวียน) จำนวน 500 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด จำนวน 10 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 ของกรมประมงเพื่อเสริมสภาพคล่องในด้านปัจจัยการผลิต (ค่าอาหารและค่าลูกพันธุ์กุ้ง) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและสร้างความมั่นคงทางอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. สถานการณ์ผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลไม่เกิน 300,000 ตันต่อปี ทำให้มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อการผลิตและการส่งออก ห้องเย็นไม่สามารถรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าได้ ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้กับประเทศผู้ผลิตคู่แข่ง หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อเนื่องและขยายเป็นวงกว้างสู่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมกุ้งทะเล ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย กษ. จึงมีนโยบายฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยให้กลับมาอยู่ในระดับ 320,000 ตัน ในปี พ.ศ. 2565 และเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายในปี พ.ศ. 2566 กรมประมงจึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงพื้นที่ในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงแนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อเกษตรกร ผ่านโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 ที่ กษ. เสนอมาในครั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งทะเลแต่ขาดสภาพคล่องมีแหล่งทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เป็นแรงจูงใจและสนับสนุนให้เกษตรกรลงกุ้งและบริหารจัดการการเลี้ยงกุ้งให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงรักษาความมั่นคงทางอาชีพเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของคนไทยและอุตสาหกรรมกุ้งทะเลให้คงอยู่ต่อไป อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจเกี่ยวเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยโครงการฯ ที่เสนอมาครั้งนี้เป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลในระยะเร่งด่วน หากโครงการฯ ระยะที่ 1 บรรลุตามวัตถุประสงค์ กษ. จะเสนอโครงการฯ ระยะที่ 2 เพื่อขยายผลการช่วยเกษตรกรด้านสภาพคล่องในการประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป
2. โครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
1. เพื่อเสริมสภาพคล่องในด้านปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล 2. เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล |
เป้าหมาย |
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล จำนวน 1,000 ราย ในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงกุ้งทะเล รวม 33 จังหวัด |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
กรมประมง กษ. 1. กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ ภาพรวม 2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (ระดับจังหวัด) ในพื้นที่ เป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบในการแนะนำให้ความรู้ และติดตามผลการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร 3. สำนักงานประมงจังหวัด เป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบในการรับสมัครเกษตรกรและผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งบริหารสินเชื่อของโครงการฯ |
แนวทางการดำเนินการ ที่สำคัญ |
1. สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่เปิดรับสมัครเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล และผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล ตามคุณสมบัติที่กำหนด เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ 2. กรมประมงจัดส่งรายชื่อพร้อมเอกสารหลักฐานของเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการไปยังสถาบันการเงิน [ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)] เพื่อใช้ในการวิเคราะห์วงเงินกู้ของเกษตรกร และสถาบันการเงินส่งข้อมูลการวิเคราะห์กลับมายังกรมประมง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการอนุมัติรายชื่อเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 3. คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับพื้นที่ (มีประมงจังหวัดเป็นประธานกรรมการ) ประเมินคุณสมบัติเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล และผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล และพิจารณาอนุมัติรายชื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล และผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลที่มีคุณสมบัติและพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด (ตามข้อ 4) เข้าร่วมโครงการฯ 4. กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจัดอบรมเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะการจัดการฟาร์มเลี้ยงกุ้งให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการฯ และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ 5. ในการขอกู้เงิน ให้เกษตรกรที่ผ่านการอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ จัดทำเอกสารประกอบแผนการขอกู้เงินตามแบบฟอร์มที่กรมประมงกำหนด จัดทำสัญญากู้ยืมเงิน และหนังสือค้ำประกันเงินกู้ (ถ้ามี) 6. การจัดหาปัจจัยการผลิต (ลูกพันธุ์กุ้งทะเล และอาหารกุ้งทะเล) 6.1 เกษตรกรเลือกซื้อลูกพันธุ์กุ้งทะเลจากผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลที่ผ่านการอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ และเลือกซื้ออาหารกุ้งทะเลที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้องโดยเกษตรกรทำการตกลงซื้อขายกับผู้จำหน่ายอาหารกุ้งทะเล และต้องจัดทำเอกสารสัญญาซื้อขายระหว่างผู้จำหน่ายและเกษตรกร 6.2 เมื่อเลือกซื้อปัจจัยการผลิตได้แล้ว เกษตรกรขอเบิกเงินจากคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับพื้นที่ 7. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่ ติดตามตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำการเลี้ยงกุ้งแก่เกษตรกรในโครงการฯ โดยกำหนดการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งต่อรอบการผลิต เพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของโครงการฯ ว่าเกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งได้ประสบความสำเร็จ หรือสามารถใช้เงินกู้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ 8. เกษตรกรส่งคืนเงินกู้ยืมมายังกรมประมงตามวงเงินและระยะเวลาที่โครงการฯ กำหนด 9. กรมประมงนำเงินกู้ยืมพร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นส่งคืนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร (ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่อาจเกิดขึ้นจากเงินต้นที่กรมประมงยืมมาจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร) |
ระยะเวลาดำเนินการ |
1. ระยะเวลาโครงการ 3 ปี นับจากวันที่ได้รับเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 2. ระยะเวลากู้ยืมเงินของเกษตรกร ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่เริ่มทำสัญญาเงินกู้ กับกรมประมง |
งบประมาณ |
รวมทั้งสิ้น 510 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. เงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 500 ล้านบาท กรมประมงยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อให้นำไปให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่เข้าร่วมโครงการฯ กู้ยืมเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต จำนวน 1,000 ราย รายละไม่เกิน 500,000 บาท 2. เงินจ่ายขาด จำนวน 10 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2 ของวงเงินกู้) ให้กรมประมงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง (ค่าฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างสถาบันการเงินวิเคราะห์วงเงินกู้และจัดทำสัญญา ค่าประชาสัมพันธ์และติดตามการดำเนินงาน โดยมีรายละเอียดตามข้อ 3 |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
1. ตัวชี้วัดผลผลิต : เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลมีสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ 2. ตัวชี้วัดผลลัพธ์ : อาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเลและธุรกิจเกี่ยวเนื่องมีความมั่นคงสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ |
3. รายละเอียดงบประมาณ
งบประมาณรวม 510 ล้านบาท จำแนกเป็นกู้ยืม 500 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 10 ล้านบาท ดังนี้
3.1 เงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 500 ล้านบาท ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่เข้าร่วมโครงการฯ กู้ยืมเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต จำนวน 1,000 ราย รายละไม่เกิน 500,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายดังนี้
รายการ |
ราคาต่อราย (บาท) |
จำนวน (ราย) |
งบประมาณ (บาท) |
1. ค่าลูกพันธุ์กุ้ง |
85,000 |
1,000 |
85,000,000 |
2. ค่าอาหารกุ้ง |
415,000 |
1,000 |
415,000,000 |
รวมเงินกู้ |
500,000 |
1,000 |
500,000,000 |
3.2 เงินจ่ายขาด จำนวน 10 ล้านบาท (คิดเป็นรอยละ 2 ของวงเงินกู้) ให้แก่กรมประมง เป็นค่าใช้จ่ายดังนี้
รายการ |
งบประมาณ (บาท) |
1. ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะการจัดการฟาร์มเลี้ยงกุ้งแก่เกษตรกร (แบบออนไลน์) วิทยากร 4 ราย (จำนวน 2 วัน) จำนวน 2 ครั้ง |
21,600 |
2. ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะการจัดการฟาร์มเลี้ยงกุ้งแก่เกษตรกร (แบบออนไลน์) วิทยากร 4 ราย (จำนวน 2 วัน) จำนวน 10 ครั้ง (5 ภูมิภาค ภูมิภาคละ 2 ครั้ง) |
108,000 |
3. ค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างนักวิชาการส่งเสริมและเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการฯ 3.1 นักวิชาการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งทะเล 12 ราย ค่าใช้จ่าย 18,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 24 เดือนรวม 5,184,000 บาท 3.2 ผู้ประสานงานส่วนกลาง 1 ราย ค่าใช้จ่าย 15,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 36 เดือน รวม 540,000 |
5,724,000 |
4. ค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างสถาบันการเงิน วิเคราะห์วงเงินกู้ (2,040 บาทต่อสัญญา) และจัดทำนิติกรรมสัญญาเงินกู้ (1,000 บาทต่อสัญญา) |
3,040,000 |
5. ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการฯ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์โครงการ การประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานระดับต่างๆ วัสดุสำนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ |
1,106,400 |
รวมเงินจ่ายขาด |
10,000,000 |
หมายเหตุ : หน่วยงานสามารถถัวจ่ายค่าใช้จ่ายได้ทุกกิจกรรม
4. คุณสมบัติและเงื่อนไขของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล และผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลที่เข้าร่วมโครงการ
4.1 เกษตรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล
4.1.1 คุณสมบัติ
(1) เป็นผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่จดแจ้งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทกิจการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (จสค.)
(2) ฟาร์มต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม [ได้แก่ (1) มาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice: GAP) หรือ (2) มาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง โค้ด ออฟ คอนดัค (Code of Conduct: CoC) หรือ (3) มาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) จากกรมประมงหรือหน่วยรับรองเอกชนที่ได้รับการรับรองระบบงานจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)] หรืออยู่ในระหว่างการต่ออายุการรับรองมาตรฐาน หรืออยู่ในระหว่างการยื่นขอการรับรองมาตรฐานที่ตรวจรับรองโดยกรมประมง หรือหน่วยรับรองเอกชนที่ได้รับการรับรองระบบงานจาก มกอช. หรือได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มอื่นใดที่สากลยอมรับ เช่น Best Aquaculture Practices (BAP) หรือ Aquaculture Stewardship Council (ASC) เป็นต้น และไม่อยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม
(3) เป็นผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่เข้าใช้งานระบบโปรแกรมประยุกต์การออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Application for Aquatic Animal Purchasing Document: APD ในกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเล
(4) เกษตรกรต้องเสนอรูปแบบการเลี้ยงกุ้งทะเลที่ประสบความสำเร็จสำหรับเป็นแนวทางการเลี้ยงกุ้งภายหลังจากได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ
(5) เป็นเกษตรกรที่มีขนาดพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งรวมทั้งหมดอยู่ระหว่าง 4 - 10 ไร่
4.1.2 เงื่อนไข
(1) เกษตรกรต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าไปตรวจสอบกิจกรรมในฟาร์ม
(2) สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ได้
(3) หลักประกันการกู้ โดย
(3.1) ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันตามวงเงินกู้ หรือ
(3.2) ใช้หลักทรัพย์ร่วมกับใช้บุคคลค้ำประกัน หรือ (3.3) ใช้บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปค้ำประกันหนี้ โดยให้กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/ราย และสามารถจับกลุ่มค้ำประกันเองได้
4.1.3 แผนการคืนเงินของเกษตรกร
เกษตรกร 1 ราย สามารถเบิกเงินกู้ยืมในแต่ละรอบการผลิตได้ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อลูกพันธุ์กุ้ง (ตามใบจองลูกพันธุ์กุ้ง) และการจัดซื้ออาหารกุ้งตามความต้องการใช้จริง โดยมีวงเงินกู้ได้สูงสุดรายละไม่เกิน 500,000 บาทต่อรอบการผลิต โดยสามารถยื่นกู้กับกรมประมงได้รายละไม่เกิน 3 รอบการผลิต ภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่เริ่มทำสัญญาเงินกู้กับกรมประมง โดยมีเงื่อนไข คือ เกษตรกรต้องชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมด (ปลอดดอกเบี้ย) ในแต่ละรอบการผลิต คืนกรมประมงให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับจากวันที่จับกุ้งจำหน่าย จึงได้รับสิทธิ์ในการขอรับเงินกู้ในรอบถัดไปได้ (1 รอบการผลิต ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 3 - 4 เดือน)
4.2 ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล
มีคุณสมบัติ ดังนี้
4.2.1 เป็นผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล ที่จดแจ้งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทกิจการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (จสค.)
4.2.2 โรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP หรือ CoC หรือ มกษ.) หรืออยู่ในระหว่างการต่ออายุการรับรองมาตรฐานที่ตรวจรับรองโดยกรมประมง หรือหน่วยรับรองเอกชนที่ได้รับการรับรองระบบงานจาก มกอช. หรือได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มอื่นใดที่สากลยอมรับ เช่น BAP เป็นต้น และไม่อยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม
4.2.3 เป็นผู้ประกอบการโรงเพาะฟักฯ ที่เข้าใช้งานระบบโปรแกรมประยุกต์การออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (APD) ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา นับจากวันสมัคร
4.2.4 ต้องอยู่ในบัญชี White List Hatchery ของกรมประมง (คือ บัญชีรายชื่อผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลที่ผ่านการตรวจโรคลูกกุ้งทะเลจากกรมประมง)
4.2.5 สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ได้
5. ประมาณการต้นทุนและรายได้ของเกษตรกร 1 ราย
เนื้อที่ 5 ไร่ โดยโครงการฯ สนับสนุนเงินกู้ยืมเป็นค่าอาหารและค่าลูกพันธุ์ ส่วนค่าเบ็ดเตล็ด (ค่าน้ำมัน ไฟฟ้า ยา สารเคมี แรงงานจับ ค่าปรับปรุงบ่อ) เป็นรายจ่ายที่เกษตรกรต้องจัดหาเอง
ปีที่ |
รุ่นที่ |
ต้นทุนค่าใช้จ่าย (บาท) |
รายได้จาก การขาย (บาท) |
รายได้ หลังหักค่าใช้จ่าย (บาท) |
|||
ค่าลูกพันธุ์ |
ค่าอาหาร |
ค่าเบ็ดเตล็ด |
รวมค่าใช้จ่าย |
||||
0 |
|
85,000.00 |
415,000.00 |
315,265.00 |
815,265.00 |
- |
815,265.00 |
1 |
1 |
85,850.00 |
427,450.00 |
321,570.30 |
834,870.30 |
1,240,000.00 |
405,129.70 |
2 |
85,850.00 |
427,450.00 |
321,570.30 |
834,870.30 |
1,240,000.00 |
405,129.70 |
|
2 |
1 |
86,700.00 |
440,315.00 |
328,001.70 |
855,016.70 |
1,200,000.00 |
344,983.30 |
2 |
86,700.00 |
440,315.00 |
328,001.70 |
855,016.70 |
1,200,000.00 |
344,983.30 |
|
รวม |
430,100.00 |
2,150,530.00 |
1,614,409.00 |
4,195,039.00 |
4,880,000.00 |
684,961.00 |
6. การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (ทั้งโครงการ)
กษ. แจ้งว่าโครงการมีความคุ้มค่า โดยได้เสนอผลการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานโครงการ ดังนี้
6.1 มูลค่าปัจจุบันของผลตอบแทนสุทธิ (Net Present Value: NPV) เท่ากับ 490,410,537.79 บาท
6.2 อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) เท่ากับ ร้อยละ 23.63
6.3 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน [Benefit-to-cost (B/C) ratio] เท่ากับ 1.13
7. คณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร [ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีคำสั่งมอบหมายให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอภัย สุทธิสังข์) เป็นประธานกรรมการ] ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 มีมติเห็นชอบโครงการฯ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมประมง วงเงินกู้ยืม 500 ล้านบาท โดยจัดเก็บดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (พ.ศ. 2565 – 2567) และขออนุมัติเงินจ่ายขาด 10 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 ของกรมประมง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8634