ผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 August 2022 22:40
- Hits: 2930
ผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ รายงานผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน พ.ศ. 2565 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 มิถุนายน 2545) ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลแล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] ทั้งนี้ ดศ. โดย สสช. ได้ดำเนินการจัดทำโครงการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน พ.ศ. 2565 โดยจัดเก็บข้อมูลจากผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน และบันทึกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ http://tns.nso.go.th ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 มีนาคม 2565 ซึ่งใช้กรอบบัญชีหมู่บ้าน/ชุมชนของกระทรวงมหาดไทย 87,573 หมู่บ้าน/ชุมชน (หมู่บ้าน 55,827 แห่ง และชุมชน 31,746 แห่ง) โดย 5 อันดับแรกของปัญหาความเดือดร้อน คือ ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ร้อยละ 42.7 รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ร้อยละ 26.8 ว่างงาน/ตกงาน ร้อยละ 23.9 สินค้าราคาแพง ร้อยละ 23.3 และค่าครองชีพสูง ร้อยละ 15.8 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน พ.ศ. 2565
1.1 ความเดือดร้อนของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน
ประเด็น |
สรุปผลสำรวจ |
|
(1) ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ |
พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยละ 72.4 บึงกาฬ ร้อยละ 71.0 บุรีรัมย์ ร้อยละ 68.4 ลำพูน ร้อยละ 68.3 และพิษณุโลก ร้อยละ 68.1 |
|
(2) รายได้ไม่พอกับรายจ่าย |
พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดตรัง ร้อยละ 62.4 ภูเก็ต ร้อยละ 53.3 ราชบุรี ร้อยละ 48.4 นราธิวาส ร้อยละ 43.4 และตราด ร้อยละ 46.7 |
|
(3) ว่างงาน/ตกงาน |
พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ร้อยละ 72.5 นราธิวาส ร้อยละ 46.2 ปัตตานี ร้อยละ 45.3 อุดรธานี ร้อยละ 44.4 และกระบี่ ร้อยละ 39.4 |
|
(4) น้ำใช้ทำการเกษตรไม่เพียงพอ |
พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ร้อยละ 42.8 แพร่ ร้อยละ 32.5 สิงห์บุรี ร้อยละ 29.7 ลำปาง ร้อยละ 28.6 และอุตรดิตถ์ ร้อยละ 24.3 |
|
(5) น้ำสำหรับอุปโภค-ลริโภคในครัวเรือนไม่ เพียงพอ |
พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้อยละ 21.5 เชียงราย ร้อยละ 21.3 น่าน ร้อยละ 9.2 อุตรดิตถ์ ร้อยละ 8.7 และกระบี่ ร้อยละ 8.5 |
|
(6) ยาเสพติดแพร่ระบาด |
พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ร้อยละ 17.7 ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 10.6 สตูล ร้อยละ 9.6 นราธิวาส ร้อยละ 7.7 และบึงกาฬกับกาพสินธุ์มีสัดส่วนเท่ากัน ร้อยละ 7.5 |
|
(7) ถนนเป็นลูกรัง/เส้นทางสัญจรไม่สะดวก |
พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้อยละ 19.7 เชียงราย ร้อยละ 6.5 ตาก ร้อยละ 6.3 กระบี่ ร้อยละ 6.0 และนครราชสีมา ร้อยละ 5.6 |
|
(8) ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน |
พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้อยละ 16.5 น่าน ร้อยละ 15.3 ตาก ร้อยละ 5.7 อุตรดิตถ์ ร้อยละ 4.5 และแพร่ ร้อยละ 4.0 |
1.2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ต่อคนในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ต่อคนในหมู่บ้าน/ชุมชนมากที่สุด คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 97.6 รองลงมา ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 96.5 โครงการ ม. 33 เรารักกัน ร้อยละ 74.8 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 38.3 โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ ร้อยละ 31.1 ทัวร์เที่ยวไทย ร้อยละ 31.0 และช้อปดีมีคืน ร้อยละ 30.1
1.3 แนวทาง/มาตรการป้องกันให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ฉีดวัคซีนเข็มแรก ร้อยละ 81.4 ปฏิบัติตัวตามมาตรการของสาธารณสุข ร้อยละ 80.3 ขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางหากไม่จำเป็น ร้อยละ 61.7 ปิดสถานบริการ/ร้านค้าที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร้อยละ 40.0 และแจก ATK ให้ทุกครัวเรือน ร้อยละ 38.0
2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน พ.ศ. 2565 เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องใช้ติดตาม ประเมินผลโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อยู่ดีมีสุข มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ เช่น
2.1 ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้สามารถพึ่งตัวเองได้
2.2 ควรมีการสนับสนุนวิธีการแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตร เช่น การทำฝนเทียม ขุดลอกหนอง บึง สระเก็บน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำ
2.3 ควรส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้รู้ถึงวิธีการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่า
2.4 ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งโครงการของภาครัฐ (โครงการเน็ตประชารัฐ) ได้ดำเนินการให้สิทธิ์เกษตรกรเข้าไปใช้งานอินเทอร์เน็ตนานกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ
2.5 ควรมีการติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในระดับพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8629