ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 August 2022 22:23
- Hits: 2876
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2565 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ดังนี้
1. อนุมัติโครงการเยียวยาศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) (โครงการเยียวยาศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปีฯ) จำนวนรวม 2,459 คน กรอบวงเงินรวม 12.2950 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 (แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2) ของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว
2. มอบหมายให้ สป.วธ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 1 และดำเนินการจัดทำแผนความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) โดยเคร่งครัดต่อไป
3. รับทราบรายงานผลการคืนเงินกู้เหลือจ่ายของหน่วยงานรับผิดชอบโครงการจำนวน 16 โครงการ 17,427.4909 ล้านบาท ที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนข้อ 22 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 แล้ว ทำให้กรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คงเหลือ ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้นจาก 26,764.8384 ล้านบาท เป็น 44,192.3293 ล้านบาท
4. รับทราบแผนการเสนอผลการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ตามข้อ 2 (2) พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอโครงการที่มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และมีความจำเป็นเร่งด่วน เร่งจัดส่งข้อเสนอโครงการดังกล่าวให้ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
สาระสำคัญของเรื่อง
คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2565 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 มีมติเกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และรายงานสรุปผลการคืนเงินกู้เหลือจ่าย รวมถึงกรอบระยะเวลาในการเสนอผลการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงาน/โครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. ข้อเสนอโครงการเยียวยาศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปีฯ ของ วธ. มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเครือข่ายศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค โควิด19 ซึ่งไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ
กรอบวงเงิน ตามข้อเสนอ |
กลุ่มเป้าหมาย |
แผนการใช้จ่าย และการดำเนินโครงการ |
มติ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 |
||
18.520 ล้านบาท (รายละ 5,000 บาท) |
- ศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่เข้าข่ายผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ จำนวน 3,704 คน1 |
- ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 เดือน (ปีงบประมาณ 2565)2 |
- เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการเยียวยาศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปีฯ จำนวน 2,459 คน (ลดลง 1,245 คน) กรอบวงเงิน 12.2950 ล้านบาท (ลดลง 6.225 ล้านบาท)2 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 - มอบหมายให้ สป.วธ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการตามข้อ 2 |
2. รายงานสรุปผลการคืนเงินกู้เหลือจ่าย รวมถึงกรอบระยะเวลาในการเสนอผลการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงาน/โครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
(1) ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา |
- หน่วยงานรับผิดชอบโครงการ จำนวน 16 โครงการ ได้รายงาน คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ว่าได้ดำเนินโครงการเสร็จสิ้นและการคืนเงินกู้เหลือจ่ายให้ สบน. และส่งคืนเงินกู้เหลือจ่ายเข้าบัญชีรวมทั้งสิ้น 17,427.4909 ล้านบาท ตามขั้นตอนข้อ 22 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 แล้ว ทำให้กรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คงเหลือ ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้นจาก 26,764.8384 ล้านบาท เป็น 44,192.3293 ล้านบาท - กระทรวงการคลัง (กค.) จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการกู้เงินประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนงาน/โครงการให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการกู้เงินตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ต้องเสนอผลการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในวันที่ 13 กันยายน 2565 - เพื่อให้ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 มีข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการ ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จึงเห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอโครงการที่มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และมีความจำเป็นเร่งด่วน เร่งจัดส่งข้อเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการฯ พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว |
|
(2) มติ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 |
- รับทราบรายงานผลการคืนเงินกู้เหลือจ่ายของหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ จำนวน 16 โครงการ รวม 17,427.4909 ล้านบาท (รายละเอียดตามข้อ 3) - รับทราบแผนการเสนอผลการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (รายละเอียดตามข้อ 4) |
___________________________________
1 ประกอบด้วย (1) ศิลปินที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 23 จังหวัด จำนวน 1,140 คน (2) ศิลปินที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 23 จังหวัด จำนวน 1,319 คน และ (3) ศิลปินประเภทอื่นๆ ทั่วประเทศ จำนวน 1,245 คน
2 คณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 และแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 (คณะอนุกรรมการฯ) ได้มีความเห็นประกอบการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ว่าเห็นควรเยียวยาเฉพาะกลุ่มศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 รวมทั้งให้ สป.วธ. ปรับปรุงระยะเวลาดำเนินการ แผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินให้สอดคล้องกับการดำเนินการจริง โดยในส่วนของระยะเวลาดำเนินโครงการที่ชัดเจนนั้น เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ จะชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ต่อไป ทั้งนี้ หากปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ จะทำให้กลุ่มเป้าหมายลดลงจาก จำนวน 3,704 คน เป็น จำนวน 2,459 คน และส่งผลทำให้กรอบวงเงินโครงการลดลงจาก 18.5200 ล้านบาท เป็น 12.2950 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8626