ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2565 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 August 2022 21:34
- Hits: 2862
ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2565 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2565 (ร่างปฏิญญาฯ) (2) ร่างแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค สำหรับการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 (ร่างแถลงการณ์ประธานฯ) และ (3) ร่างแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดข้องต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย (1) ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ ร่างปฏิญญาฯ และร่างแผนปฏิบัติการฯ หรือ (2) ออกประกาศแถลงการณ์ประธานฯ และรับรองแผนปฏิบัติการฯ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation: APEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ มีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในมิติด้านต่างๆ ซึ่งสมาชิกสามารถพิจารณาให้ความร่วมมือตามความสมัครใจ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยให้การสนับสนุนและดำเนินงานความร่วมมือด้านเกษตรและความมั่นคงอาหารในกรอบเอเปคมาโดยตลอด ซึ่งในครั้งนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 ในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุม
2. เรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม 3 ฉบับ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยแล้ว ดังนี้
ผลลัพธ์ |
สาระสำคัญ |
|
1. ร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2565 (ร่างปฏิญญาฯ) |
เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในระดับรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงอาหารใน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การสนับสนุนความปลอดภัยอาหารและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (2) การปรับปรุงการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี (3) การส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ (4) การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคเกษตร - อาหาร (5) สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และรับรองว่าจะร่วมกันดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (ที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้เช่นกัน) |
|
2. ร่างแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) |
จัดทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ที่มีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2564 แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม (2) ด้านผลิตภาพ (3) ด้านความครอบคลุม (4) ด้านความยั่งยืน (5) ด้านความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน และ (6) ด้านการกำหนดเป้าหมายที่ชาญฉลาด และการดำเนินการตามแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 และมีการกำหนดกิจกรรมที่มอบหมายให้แต่ละประเทศดำเนินการรวมทั้งสิ้น 27 กิจกรรม ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ 2 กิจกรรมได้แก่ การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (กษ. แจ้งว่า ได้จัดประชุมดังกล่าวไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2565) และการกำหนดกิจกรรมและจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติการฯ |
|
3. ร่างแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคสำหรับการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 (ร่างแถลงการณ์ประธานฯ) |
มีสาระสำคัญเหมือนกับร่างปฏิญญาฯ โดยจะมีการประกาศร่างแถลงการณ์ประธานฯ เฉพาะในกรณีที่ที่ประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคไม่สามารถบรรลุฉันทามติรับรองร่างปฏิญญาฯ ได้ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8622