แนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2557/58
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 03 December 2014 16:06
- Hits: 3973
แนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2557/58
เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2557/58
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2557/58 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่ /2557 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
สาระสำคัญของแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2557/58 แบ่งเป็นระยะสั้นและระยะปานกลาง ดังนี้
1. มาตรการระยะสั้น (4-6 เดือน)
1.1 การชดเชยดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยว โดยให้เกษตรกรกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามหลักเกณฑ์ปกติ ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ธันวาคม 2557– มีนาคม 2558 เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไว้ใช้จ่ายระหว่างชะลอการเก็บเกี่ยว โดยภาครัฐชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน (เริ่มธันวาคม 2557 แต่ไม่เกินกันยายน 2558) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 500,000 ราย วงเงินกู้ 25,000 ล้านบาท
1.2 การเพิ่มสภาพคล่องทางการค้า โดยสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้า และผู้แปรรูปมันสำปะหลังขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์หรือ ธ.ก.ส. ตามหลักเกณฑ์ปกติ ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ธันวาคม 2557 – มีนาคม 2558 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการรวบรวมรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นโดยภาครัฐชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือน (เริ่มธันวาคม 2557 แต่ไม่เกินกรกฎาคม 2558) วงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ขนาดกลางวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และขนาดใหญ่วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ประสงค์ขอรับการชดเชยจะต้องทำแผนการรวบรวมและเสนอขอรับจัดสรรวงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ หรือ ธ.ก.ส.
2. มาตรการระยะปานกลาง (2 ปี หรือ 24 เดือน)
2.1 การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบน้ำหยด โดยให้เกษตรกรกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ตามหลักเกณฑ์ปกติ ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่มกราคม–ธันวาคม 2558 เพื่อพัฒนาการเพาะปลูกให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง โดยภาครัฐชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรในอัตราร้อยละ 3ต่อปี ระยะเวลา 24 เดือน (เริ่มมกราคม 2558 แต่ไม่เกินธันวาคม 2560) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 100,000ราย วงเงินกู้ 23,000 ล้านบาท
2.2 การยกระดับมาตรฐานการแปรรูปมันสำปะหลัง โดยสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้า และผู้แปรรูปมันสำปะหลังกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือ ธ.ก.ส. ตามหลักเกณฑ์ปกติ ระยะเวลากู้เงินตั้งแต่มกราคม 2558 – ธันวาคม 2558 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมแปรรูปและจัดเก็บ (เช่น เครื่องมือเครื่องจักร ลานตาก เครื่องอบ คลังเก็บ และอื่นๆ) โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยแทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน(เริ่มมกราคม 2558 แต่ไม่เกินธันวาคม 2560) วงเงินกู้ 15,000ล้านบาท กำหนดกรอบวงเงินสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ขนาดกลางวงเงินไม่เกิน 10ล้านบาท และขนาดใหญ่วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประสงค์ขอรับการชดเชยจะต้องจัดทำแผนการรวบรวมและเสนอขอรับจัดสรรวงเงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือ ธ.ก.ส.
2.3 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม พัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนามันสำปะหลังอย่างยั่งยืน โดยให้หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตและการตลาดอย่างเข้าถึงเกษตรกรในพื้นที่ และต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ วงเงิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการภายในกันยายน 2558
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ไปพิจารณาแนวทางการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังตามกรอบการดำเนินงานเดิม โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรและความสอดคล้องกับนโยบายการชะลอการเก็บเกี่ยวของคณะกรรมการ นบมส. ด้วย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 ธันวาคม 2557