ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 August 2022 23:32
- Hits: 2425
ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ป.ป.ส. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ประมวลกฎหมายยาเสพติด และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 บัญญัติให้การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ สธ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดชื่อยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ และกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ เพื่อประกอบการพิจารณาให้โอกาสแก่ผู้เสพยาเสพติดที่ครอบครองยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรง และพิจารณาให้รับการบำบัดรักษาแทน ทั้งนี้ ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์แต่ละประเภทตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกำหนด ดังนี้
1.1 ชื่อยาเสพติดให้โทษ
(1) ประเภท 1 เช่น เฮโรอีน (heroin), เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine หรือ methamfetamine), แอมเฟตามีน (amphetamine หรือ amfetamine) (ยาบ้า)
(2) ประเภท 2 เช่น โคคาอีน (cocaine), ฝิ่นยา (medicinal opium)
(3) ประเภท 5 เช่น พืชฝิ่น, เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย, สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง
1.2 ชื่อวัตถุออกฤทธิ์
(1) ประเภท 1 เช่น คาทิโนน (cathinone), ไซโลซีน (psilocine หรือ psilotsin), ไซโลไซบีน (psilocybine)
(2) ประเภท 2 เช่น คีตามีน (ketamine), ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine), ไนตราซีแพม (nitrazepam)
2. การกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามร่างกฎกระทรวงในข้อ 1. โดยอ้างอิงปริมาณตามกฎหมายเดิม กล่าวคือ กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 เป็นการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษสำหรับความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครอง ความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานเสพและจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ และกฎกระทรวงกำหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งสันนิษฐานว่าผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่านหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย พ.ศ. 2561 เป็นการกำหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่านหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย โดยกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายเดิมที่กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ตามลำดับ และได้ถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ดังนั้น หากเป็นการครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณตามที่กำหนดตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
3. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอำนวยการและดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (http://mnfda.fda.moph.go.th) และเว็บไซต์ สธ. (http://ncmc.moph.go.th) ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2564 – 4 พฤศจิกายน 2564 และรับฟังความคิดเห็นผ่านหนังสือแจ้งเวียนอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างวันที่ 23 กันยายน 2564 – 4 พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ สธ. ได้รวบรวมความคิดเห็นดังกล่าวเสนอคณะกรรมการอำนวยการและดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อพิจารณาด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้โอกาสแก่ผู้เสพยาเสพติดที่ครอบครองยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรงและพิจารณาให้รับการบำบัดรักษา อาทิ
ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ |
ปริมาณ |
|
ยาเสพติดให้โทษ 1) ประเภท 1 เช่น - เฮโรอีน (heroin) |
- มีน้ำหนักสุทธิไม่เกินสามร้อยมิลลิกรัม |
|
- เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine หรือ methamfetamine)
|
- มีปริมาณไม่ถึงสิบห้าหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงหนึ่งจุดห้ากรัม หรือคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม | |
- แอมเฟตามีน (amphetamine หรือ amfetamine) (ยาบ้า) | - มีปริมาณไม่ถึงสิบห้าหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงหนึ่งจุดห้ากรัม | |
2) ประเภท 2 เช่น - โคคาอีน (cocaine) - ฝิ่นยา (medicinal opium) 3) ประเภท 5 |
- มีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหกร้อยมิลลิกรัม - มีน้ำหนักสุทธิไม่เกินสิบห้ากรัม - มีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งร้อยสามสิบห้ากรัม
|
|
วัตถุออกฤทธิ์ 1) ประเภท 1 เช่น - คาทิโนน (cathinone) - ไซโลซีน (psilocine หรือ psilotsin) - ไซโลไซบีน (psilocybine) 2) ประเภท 2 เช่น - คีตามีน (ketamine) - ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) - ไนตราซีแพม (nitrazepam) |
- คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินศูนย์จุดห้ากรัม - คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินศูนย์จุดหนึ่งกรัม - คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินศูนย์จุดหนึ่งกรัม
- คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินศูนย์จุดห้ากรัม - คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินห้ากรัม - คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินศูนย์จุดสามกรัม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8358