ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 August 2022 23:13
- Hits: 2489
ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้กรอบวงเงิน 4,019.80 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 จำนวน 1,361 รายการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ โดยรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.)
สาระสำคัญของเรื่อง
สทนช. รายงานว่า
1. สืบเนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยเกือบทุกปีที่ผ่านมาและยังประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่ รวมทั้งจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจึงได้ประเมินสถานการณ์น้ำฝนจากการคาดการณ์ของหน่วยงานดังกล่าว พบว่าปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลทำให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด 19 ส่งผลให้ประชาชนว่างงานและอพยพกลับสู่ภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้น้ำทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น
2. สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2564 และได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 จำนวน 13 มาตรการ [เช่น (1) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (2) ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน (3) ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (4) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา และ (5) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ เป็นต้น] เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565
3. สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องตามมาตรการตามข้อ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบและบรรเทาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย พร้อมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มีรายละเอียดที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
3.1 วัตถุประสงค์โครงการ
3.1.1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565
3.1.2 เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัย
3.1.3 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566
3.1.4 เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
3.2 พื้นที่เป้าหมาย
3.2.1 พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย/ภัยแล้ง ตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด
3.2.2 พื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข/บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งโดยเร่งด่วนตามที่หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด
3.3 ระยะเวลาดำเนินการ
120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
3.4 ข้อกำหนดในการเสนอแผนงานโครงการ เช่น
3.4.1 แผนงานโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหรือเพื่อป้องกันบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย หรือ เพื่อการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 หรือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566
3.4.2 เป็นแผนงานโครงการบันทึกข้อมูลผ่านระบบบริหารจัดการแผนงานโครงการและฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (ระบบ Thai Water Plan : TWP) ที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และรัฐมนตรีต้นสังกัดให้ความเห็นชอบ
3.4.3 มีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
3.4.4 แผนงานโครงการมีรายละเอียดความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถระบุพิกัดที่ตั้งของโครงการได้ถูกต้องชัดเจน มีแบบรูปรายการ เอกสารประมาณราคาค่าก่อสร้าง รวมทั้งได้รับอนุญาตด้านการใช้ที่ดินแล้ว
3.4.5 ไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงานโครงการที่ส่วนราชการดำเนินการแล้ว [จากฐานข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี (2563 - 2564) และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2565]
3.5 กลุ่มประเภทโครงการ
แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มประเภทโครงการ ได้แก่
3.5.1 การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์
เป็นงานซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุม การระบายน้ำ และการเก็บกักน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เช่น ซ่อมแซม/ปรับปรุงพนังกั้นน้ำ คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่ง/ระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีโทรมาตร เป็นต้น
3.5.2 การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา
เป็นงานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้าง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งกีดขวางที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำ การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ เช่น การกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำ เป็นต้น
3.5.3 การขุดลอกคูคลอง
เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เช่น ขุดลอกคู คลอง ลำน้ำ แก้มลิง เป็นต้น
3.5.4 การเตรียมความพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ
เป็นการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ ซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องจักร ซ่อมแซมยานพาหนะขนย้ายเครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น
3.5.5 การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในช่วงเวลาฤดูแล้งถัดไป เช่น สระ/อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน ขุดเจาะบ่อบาดาล ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น
4. คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 วันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่มี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบมาตรการฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 13 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 โดยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (3 พฤษภาคม 2565) รับทราบและเห็นชอบด้วยแล้ว
5. สทนช. ได้แจ้งให้หน่วยงานเสนอแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ดังกล่าว โดยแผนงานโครงการได้ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาความเหมาะสม พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการแล้วตามลำดับ ต่อมา สทนช. ได้ดำเนินการรวบรวมตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนงานโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถบรรเทาและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน 4,428 รายการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 8,242.53 ล้านบาท
6. สงป. ได้นำแผนงานโครงการตามข้อ 5 กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 จำนวน 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน จำนวน 1,361 รายการ ภายในกรอบงบประมาณ 4,019.80 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สามารถจำแนกตามกระทรวงและหน่วยงาน ได้ดังนี้
หน่วยงาน |
จำนวน (รายการ) |
วงเงิน (ล้านบาท) |
กระทรวงกลาโหม (กห.) |
32 |
23.31 |
กองทัพบก |
1 |
6.80 |
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา |
31 |
16.51 |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) |
2 |
76.45 |
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) |
2 |
76.45 |
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) |
411 |
1,190.43 |
กรมชลประทาน |
410 |
1,149.57 |
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร |
1 |
40.86 |
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) |
139 |
432.91 |
กรมทรัพยากรน้ำ |
57 |
378.93 |
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล |
82 |
53.98 |
กระทรวงมหาดไทย (มท.) |
777 |
2,296.70 |
เทศบาลเมือง |
1 |
3.50 |
เทศบาลตำบล |
52 |
166.21 |
เทศบาลนคร |
2 |
880.00 |
จังหวัด |
34 |
24.75 |
องค์การบริหารส่วนจังหวัด |
477 |
611.73 |
องค์การบริหารส่วนตำบล |
211 |
610.51 |
รวมทั้งสิ้น |
1,361 |
4,019.80 |
ทั้งนี้ สงป. ขอให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
6.1 ให้หน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทยโดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาจังหวัด 10 จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด 10 แห่ง เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลนคร 1 แห่ง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยตรงตามขั้นตอนของระเบียบและแนวทางที่เคยปฏิบัติต่อไป
6.2 สำหรับโครงการของจังหวัดซึ่งต้องบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 หากยังมิได้กำหนดอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด เห็นควรให้ไปดำเนินการบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดให้ครบถ้วนตามขั้นตอนต่อไปด้วย ทั้งนี้ ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตรวจสอบ หากพบว่าเป็นหน่วยรับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณได้โดยตรง หากมิใช่ ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สทนช. ได้กำหนดในหลักเกณฑ์การเสนอแผนงานโครงการเพื่อให้เป็นไปตามภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเรียบร้อยแล้ว)
6.3 ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 และเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและ แผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป
6.4 ให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการเพื่อรายงานผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย
7. เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 35,723 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 34.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 36,735 ครัวเรือน และสามารถกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำได้ประมาณ 4.74 ล้านตัน รวมถึงสามารถซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 394 แห่ง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นด้วย
8. สทนช. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยแล้ว และจะแจ้งให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ให้เป็นไปตามความเห็นของ สงป. ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หนังสือเวียน มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8356