ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 August 2022 22:17
- Hits: 2364
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 สศช. ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติผ่านการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยทุกหน่วยงานของรัฐต้องจัดทำร่างข้อเสนอโครงการฯ ที่ตรงโจทย์การพัฒนา ซึ่ง สศช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินให้คะแนนร่างข้อเสนอโครงการฯ ดังนี้ (1) โครงการที่ส่งผลต่อปัจจัยและองค์ประกอบหลักภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของเป้าหมายแผนแม่บทย่อยและการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯ และยุทธศาสตร์ชาติ (2) ความจำเป็นต้องมีหรือไม่มีโครงการ (3) การจัดทำโครงการมีการอ้างอิงหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (4) โครงการมีวัตถุประสงค์ ผลผลิต ผลลัพธ์ และกลุ่มเป้าหมายผู้รับประโยชน์ที่ชัดเจน (5) โครงการมีแผนการดำเนินงานและกิจกรรมที่ชัดเจน (6) โครงการมีตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม และ (7) โครงการไม่เป็นไปเพื่อการจัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการ จัดตั้งหน่วยงาน ปรับปรุงซ่อมแซม ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และจัดซื้อครุภัณฑ์เป็นการเฉพาะ หรือหากจำเป็นจะต้องส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ หน่วยงานจะต้องนำเข้าข้อเสนอโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน - 10 กรกฎาคม 2565 และจะเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป
1.2 สศช. ได้ปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยยึดหลักการและแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ให้มีการปรับปรุงตัวชี้วัดค่าเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาให้มีความชัดเจนและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อ สศช. ดำเนินการแล้วเสร็จจะมีการรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับปรับปรุง) ในเดือนกรกฎาคม 25651 เพื่อนำความคิดเห็นมาประกอบการปรับปรุงแผนแม่บทฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และจะเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 รวมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
1.3 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) สศช. ได้เร่งจัดเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามเพื่อการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับครัวเรือนและบุคคลตามหลักการของดัชนีการพัฒนาคนหลากหลายมิติ และผลักดันแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 (เรื่อง การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) ผ่านกลไก ศจพ. ในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมทั้งทีมปฏิบัติการในพื้นที่ นอกจากนี้ สศช. ได้หารือร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการพัฒนากรอบกิจกรรมความร่วมมือในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามแนวทางของ ศจพ. เพื่อหาต้นแบบการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของภาคีต่างๆ ในพื้นที่เพื่อให้สามารถสนับสนุนการแก้ปัญหา ลดความยากจน และนำไปสู่การออกแบบสวัสดิการและความคุ้มครองทางสังคม เพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
2.1 สศช. ได้รายงานความคืบหน้าตามแผนการปฏิรูปประเทศ (รอบเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 และรอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564) ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี 2564 ต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 โดยมีสรุปความเห็นและประเด็นอภิปราย ดังนี้ (1) พัฒนารูปแบบการรายงานฯ โดยแสดงความคืบหน้าที่ชัดเจนและมีผลการดำเนินการในแต่ละประเด็นการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม (2) เร่งรัดการยกร่างและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ เช่น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการข้อมูลข่าวปลอม พ.ศ. ....2 และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....3 รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการในระยะต่อไปของการปฏิรูปประเทศ โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องนำประเด็นปฏิรูปไปดำเนินการตามภารกิจปกติของหน่วยงาน เพื่อให้การปฏิรูปประเทศสัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ สศช. จะนำความเห็นและประเด็นอภิปราย รวมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการเร่งรัด กำกับ และติดตามการดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป
2.2 ความคืบหน้าแผนการปฏิรูป (รอบเดือนมกราคม - มีนาคม 2565) มีกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวม 62 กิจกรรม โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ 55 กิจกรรม และกิจกรรมที่ดำเนินการล่าช้า 7 กิจกรรม ซึ่งจำเป็นต้องเร่งรัด กำกับ ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ได้แก่
ด้าน |
กิจกรรม |
|
การเมือง |
(1) การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ (2) การส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง |
|
กฎหมาย |
(3) การจัดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนโทษทางอาญาที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงให้เป็นโทษปรับเป็นพินัย เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (4) การจัดทำประมวลกฎหมายเพื่อรวบรวมกฎหมายเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกันเพื่อความสะดวกในการใช้งาน |
|
กระบวนการยุติธรรม |
(5) การจัดหาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีทั่วประเทศ |
|
การป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบ |
(6) การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ (7) การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใสไร้ผลประโยชน์ |
และในส่วนของความคืบหน้าของกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) 45 ฉบับ ได้มีกฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 ฉบับ4 และร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา 3 ฉบับ5
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้เผยแพร่ข้อมูลจากระบบ eMENSCR ในรูปแบบ JSON (Java Script Object Notation)6 เพื่อให้หน่วยงานหรือผู้ที่สนใจนำข้อมูลโครงการและการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับ 2 ไปใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดในการวิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลในมิติต่างๆ ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยสามารถเรียกดูได้ผ่านทางเว็บไซต์ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ (ร่าง) พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้จัดสรรงบประมาณ รวมวงเงินทั้งสิ้น 3,185,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาวงเงินงบประมาณตามประเด็นของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเทียบกับค่าสถานะการบรรลุเป้าหมายในปี 2565 จากรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี 2564 พบว่า ประเด็นแผนแม่บทฯ ที่มีวงเงินงบประมาณสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ (1) ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม มีค่าสถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (2) พลังทางสังคม มีค่าสถานะการบรรลุเป้าหมายแล้ว และ (3) โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล มีค่าสถานะการบรรลุเป้าหมายแล้ว อีกทั้งในรายงานสรุปผลฯ มีประเด็นแผนแม่บทฯ อื่นๆ ที่ควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายที่มีความเสี่ยงรวมอยู่ด้วย ดังนั้น หน่วยงานของรัฐควรใช้ข้อมูลค่าสถานะการบรรลุเป้าหมาย ประเด็นท้าทาย และข้อเสนอแนะ จากรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีตามยุทธศาสตร์ชาติมาประกอบการวิเคราะห์ความเหมาะสมและความจำเป็นในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่าและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
________________________________
1 จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สศช. แจ้งว่าได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2565 ผ่านเว็บไซต์ สศช.
2 จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สศช. แจ้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงการจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการข้อมูลข่าวปลอม พ.ศ. ....” เป็น “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. ....” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 กุมภาพันธ์ 2565) เห็นชอบในหลักการแล้ว
3 จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สศช. แจ้งว่าอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4 กฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 ฉบับ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 (2) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. 2564 (3) ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Framework Guideline) และ (4) กฎ ก.พ. ว่าด้วยการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. 2565
5 ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา 3 ฉบับ ได้แก่ (1) (ร่าง) กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... (2) (ร่าง) พระราชบัญญัติระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... และ (3) (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
6 JSON (JavaScript Object Notation) คือ รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีลักษณะเป็นข้อความ (text) สามารถเข้าใจได้ง่ายและใช้ได้กับการเขียนโปรแกรมทุกภาษา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8349