ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 August 2022 22:01
- Hits: 2394
ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 12 - 13 พฤษภาคม 2565 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. เมื่อวันที่ 12 - 13 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรี ผู้นำ/ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนได้เข้าร่วมกำหนดการพบหารือกับฝ่ายสหรัฐฯ (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ รัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น Boeing Chevron และ Google) โดยได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเป็นผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต เพื่อมุ่งสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งมีการหารือที่ครอบคลุมหลายมิติ และเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและทุกภาคส่วนของไทยสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ/ผลการหารือฯ |
|
(1) ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ |
(1.1) อาเซียนเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความสามารถของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ โดยไทยเสนอให้สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับอาเซียนและผู้เล่นสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาคผ่านการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของหลักการภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific AOIP) ซึ่งจะเอื้อให้ทุกประเทศสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และก้าวสู่ยุคความปกติถัดไป (Next Normal) ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน (1.2) สหรัฐฯ ยืนยันถึงความสำคัญของอาเซียนและย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในฐานะหัวใจของการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เสรี เปิดกว้าง มีเสถียรภาพ มั่งคั่ง เข้มแข็ง และปลอดภัย โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาและค่านิยมร่วมกัน |
|
(2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ |
(2.1) อาเซียนเน้นย้ำความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การพัฒนาทุนมนุษย์ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งนี้ ไทยได้ผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการพัฒนาศักยภาพกำลังคนดิจิทัลในอาเซียน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพ ตลอดจนเน้นย้ำศักยภาพของไทยและอาเซียนในการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในสาขายานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ เทคโนโลยีชีวภาพอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือข้างต้นให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม (2.2) สหรัฐฯ ไม่ได้กล่าวถึงข้อริเริ่มกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) โดยตรง แต่ระบุถึงวิสัยทัศน์ที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานสูง โดยในชั้นนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และไทย ได้ร่วมสนับสนุนข้อริเริ่ม IPEF แล้ว |
|
(3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
(3.1) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ทั้งอาเซียนและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยสหรัฐฯ แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนแหล่งเงินและความช่วยเหลือทางเทคนิคให้แก่อาเซียนสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ตลอดจนการกระชับความเป็นหุ้นส่วนในด้านการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ และการแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในอนาคต (3.2) ไทยเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความร่วมมือเพื่อผลักตันแนวคิดใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างสมดุล เช่น โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) โดยไทยพร้อมจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพ |
|
(4) ความร่วมมือทางทะเล |
อาเซียนและสหรัฐฯ เห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือและการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยสหรัฐฯ ประกาศข้อริเริ่มใหม่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียน โดยเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอาเซียนในด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ความร่วมมือด้านความตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล และความร่วมมือในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม |
|
(5) ประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ |
(5.1) ทะเลจีนใต้ ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่าน โดยสหรัฐฯ สนับสนุนท่าทีของอาเซียนต่อการเจรจาประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งเคารพสิทธิของประเทศที่สาม (5.2) ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐฯ ย้ำว่า การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นความเป็นจริงของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน รวมทั้งมีมาตรการรองรับเพื่อควบคุมวิกฤตและลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (5.3) สถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สหรัฐฯ สนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ของผู้นำอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์และการหารือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลเพื่อนำเมียนมากลับสู่สันติภาพและความมั่นคง โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรจะยังคงมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาต่อไป (5.4) สถานการณ์ในยูเครน สหรัฐฯ กล่าวประณามการรุกรานยูเครนของสหพันธรัฐรัสเซียอย่างรุนแรงและชัดเจน โดยเห็นว่า เป็นการก่อสงครามที่โหดร้าย ปราศจากการยั่วยุ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานและห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลก และเรียกร้องให้อาเซียนถอยห่างจากการมีปฏิสัมพันธ์กับรัสเซีย ขณะที่อาเซียนแสดงความห่วงกังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งไทยได้ย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสำคัญกับข้อพิจารณาด้านมนุษยธรรมเพื่อเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ทั้งวิกฤตพลังงาน ความยากจน และการขาดแคลนสินค้าอุปโภคที่จำเป็น แทนความขัดแย้ง |
|
(6) ผลลัพธ์ของการประชุม |
(6.1) ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ร่วมรับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อมุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านในอนาคต (6.2) สหรัฐฯ ประกาศข้อริเริ่มใหม่ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 2) การศึกษา 3) ความร่วมมือทางทะเล และ 4) ความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยมีข้อริเริ่มด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น “Trade Winds Business Forum” ซึ่งสหรัฐฯ จะนำคณะนักธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เดินทางเยือนภูมิภาคอาเซียนในปี 2566 โดยใช้ไทยเป็นฐานในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการจัดตั้ง “U.S.-ASEAN Institute for Rising Leaders” ที่ Johns Hopkins School of Advanced International Studies (SAIS) โดยการสนับสนุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน (6.3) สหรัฐฯ ประกาศการเสนอชื่อนายโจฮานเนส อะเบเบ อับราฮัม ซึ่งเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอาเซียน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8343