สรุปผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 และการประชุมสมัยพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 August 2022 21:59
- Hits: 2307
สรุปผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 และการประชุมสมัยพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (The Resumed Session of fifth Session of the United Nations Environments Assembly: UNEA 5.2) และการประชุมสมัยพิเศษเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environments Programme: UNEP) (UNEP@50) และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า การเข้าร่วมประชุม UNEA 5.2 ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening Actions for Nature to Achieve the Sustainable Development Goals” ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2565 และการประชุมสมัยพิเศษ UNEP@50 ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening UNEP for the Implementation of the Environmental Dimension of the 2030 Agenda for Sustainable Development” ระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2565 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน่ไทย พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการประชุม มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุม UNEA 5.2
1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถ้อยแถลงโดยเน้นย้ำว่า การประชุม UNEA 5.2 จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่และวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมโลกในอนาคต โดยประชาคมโลกจะต้องผลักดันพันธกรณีที่มีอยู่ให้เป็นนโยบาย กฎหมาย และการลงทุนอย่างเร่งด่วน สำหรับประเทศไทยได้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจพร้อมกับพื้นฟูระบบนิเวศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economic Model: BCG Model ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นขับเคลื่อนคาร์บอนเครดิตที่ได้มาจากการบริหารจัดการแบบองค์รวมที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งยังสนับสนุนหลักการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐ (Intergovernmental Negotiating Committee) ซึ่งเป็นกลไกสำหรับการเจรจาจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ต่อไป
1.2 การเสวนาของผู้แทนระดับสูง (Leadership Dialogues) ในหัวข้อ “Strengthening Actions for Nature to Achieve SDGs” ประเทศไทยได้เน้นย้ำความสำคัญและความจำเป็นของการประสานงานระหว่าง UNEP และสำนักงานเลขาธิการของข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกลไกลดความขัดแย้งที่สำคัญและลดภาระของประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดในการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ UNEP แสดงบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการในทุกระดับ และเสริมสร้างการใช้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ในการกำหนดนโยบายซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ ได้เรียกร้องให้สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติในฐานะหน่วยงานสูงสุดแสดงบทบาทผู้นำในการสนับสนุนการดำเนินการตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงาน UNEP ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จึงพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมของ UNEP โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกต่อไป
2. การประชุมสมัยพิเศษ UNEP@50 นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยชื่นชม UNEP ที่สนับสนุนประเทศสมาชิกในการดูแลสิ่งแวดล้อมและพร้อมจะร่วมดำเนินงานกับ UNEP และประชาคมโลกในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น รวมถึงเน้นการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งควบคู่กับการใช้นวัตกรรมเพิ่มคุณค่า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม BCG Model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติและหวังว่า UNEP จะสนับสนุนประเทศสมาชิกในการแสวงหาแนวทางและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UNEP ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยอย่างเต็มที่เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
3. เอกสารผลลัพธ์การประชุม
เอกสารผลลัพธ์ |
สาระสำคัญ |
|
1. ปฏิญญาระดับรัฐมนตรี ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) |
ได้มีการรับรองในการประชุม UNEA5.2 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 โดยมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขสาระสำคัญของเอกสารให้เปลี่ยนแปลงไปและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชัดไว้ (22 กุมภาพันธ์ 2565) เช่น (1) การเพิ่มถ้อยคำเพื่อสะท้อนถึงการยืนยันหลักการต่างๆ ที่ประชาคมโลกได้ตกลงร่วมกันไว้แล้ว (2) การเพิ่มถ้อยคำในการส่งเสริมความเชื่อมโยงของระบบนิเวศและสนับสนุนการประเมินทางวิทยาศาสตร์ในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม |
|
2. ปฏิญญาทางการเมือง ซึ่งเน้นย้ำถึงการให้คำมั่นที่จะเสริมสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้ทุกภาคส่วนดำเนินงานเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และให้การรับรองบทบาทของ UNEA ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมระดับโลก |
ได้มีการรับรองในการประชุมสมัยพิเศษ UNEA@50 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 โดยมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขสาระสำคัญของเอกสารให้เปลี่ยนแปลงไปและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ (22 กุมภาพันธ์ 2565) เช่น (1) การเพิ่มถ้อยคำเพื่อสะท้อนถึงข้อมติสมัชชาสหประชาชาติและข้อมติของคณะมนตรีที่เกี่ยวข้องที่ได้ตกลงร่วมกันไว้แล้ว (2) การเพิ่มถ้อยคำเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการขจัดความยากจนเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน (3) การเพิ่มถ้อยคำการสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างบทบาทของสำนักงานภูมิภาคและสำนักงานใหญ่ของ UNEP (4) การปรับถ้อยคำให้การบริจาคเงินสมทบกองทุนสิ่งแวดล้อมของ UNEP โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของแต่ละประเทศ และ (5) การเพิ่มถ้อยคำเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ |
|
3. ข้อมติและข้อตัดสินใจ เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละประเทศเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน |
ได้มีการรับรองข้อมติ จำนวน 14 ข้อ และข้อตัดสินใจ จำนวน 1 ข้อ [ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนข้อมติจากเดิมที่คณะรัฐนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ (22 กุมภาพันธ์ 2565) จาก 16 ข้อ เป็น 14 ข้อ แต่สาระสำคัญยังคงเดิม] ในการประชุม UNEA 5.2 เพื่อปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเน้นย้ำความเร่งด่วนในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก กับความท้าทายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในสาขาความร่วมมือต่างๆ เช่น มลพิษจากพลาสติก การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน รวมถึงการจัดการสารเคมีและของเสียอย่างเหมาะสม รวมทั้งการฟื้นฟูที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยประเทศไทยได้ร่วมอุปถัมภ์ข้อมติ 4 ข้อ ได้แก่ (1) การจัดการสารเคมีและของเสีย (2) Science-Policy Panel เพื่อจัดการสารเคมีและของเสียและป้องกันมลพิษ (3) มิติด้านสิ่งแวดล้อมในการฟื้นฟูหลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม และ (4) การสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนในการผลิตและบริโภค |
หมายเหตุ : การปรับเปลี่ยนถ้อยคำของปฏิญญาทั้ง 2 ฉบับ เป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก รวมถึงประเทศไทยในการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามบริบทและขีดความสามารถของแต่ละรัฐสมาชิกบนพื้นฐานของความสมัครใจและสอดคล้องกับการดำเนินการตามนโยบายของแต่ละประเทศรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ตลอดจนการดำเนินการตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยเข้าร่วมและมีการดำเนินการตามข้อตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8342