ผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 09 August 2022 21:52
- Hits: 2351
ผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ครั้งที่ 3 โดยมีเนปาลเป็นเจ้าภาพผ่านการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2565 และมีปลัดกระทรวงพลังงาน (นายกุลิศ สมบัติศิริ) เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 เมษายน 2565) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีพลังงานบิมสเทค ครั้งที่ 3 และหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พน. ดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความคืบหน้าของโครงการด้านพลังงานภายใต้กรอบความร่วมมือบิมสเทค สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ความคืบหน้า |
|
(1) การจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าบิมสเทค |
ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ แล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 |
|
(2) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการประสานงานด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าบิมสเทค |
จัดตั้งคณะกรรมาธิการและจัดประชุมคณะกรรมาธิการครั้งที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 |
|
(3) การจัดทำการศึกษาแผนแม่บทการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าบิมสเทค |
อยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับเอกสารเชิงหลักการและขอบเขตการดำเนินโครงการร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) |
|
(4) การจัดตั้งศูนย์พลังงานบิมสเทค |
ลงนามในบันทึกความตกลงแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2554 |
2. การแสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอนโยบายด้านพลังงาน และแนวทางความร่วมมือภายใต้กรอบบิมสเทคของรัฐมนตรีและผู้แทนรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
รัฐมนตรี/ผู้แทนรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก |
สาระสำคัญ |
|
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ของบังกลาเทศ |
ภูมิภาคบิมสเทคกำลังเผชิญกับความท้าทายทางพลังงานในด้านต่างๆ ซึ่งการยกระดับความร่วมมือกับประเทศสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินจะสามารถเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ บิมสเทคต้องร่วมมือกันสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ การรักษาสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดให้มากขึ้นในภูมิภาค |
|
(2) ปลัด พน. ของภูฏาน |
พร้อมสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทางพลังงานอย่างยั่งยืนของภูมิภาคบิมสเทค โดยภูฏานเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านพลังงานน้ำและปัจจุบันกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในภูฏานเป็นไฟฟ้าพลังน้ำ อย่างไรก็ตาม ภูฎานมีความสนใจในแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งภูมิภาคบิมสเทคเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนสูง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้น การส่งเสริมการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาพลังงานทดแทน การจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าบิมสเทค และการส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าภายในภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและความเป็นอยู่ที่ดีต่อประชาชนของภูมิภาคอย่างยั่งยืน |
|
(3) รัฐมนตรี พน. ของอินเดีย |
ปัจจุบันอินเดียกำลังประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้ประกาศเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 50 และกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ไม่เกิน 1 ล้านตัน ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และเห็นว่าเป้าหมายหลักของความร่วมมือของประเทศสมาชิกบิมสเทคได้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดร่วมกันด้วย อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกบิมสเทคมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การส่งเสริมการจัดตั้งความเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ อินเดียได้มีการดำเนินนโยบาย “หนึ่งดวงอาทิตย์ หนึ่งโลก หนึ่งโครงข่ายไฟฟ้า” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อไปยังนานาชาติ โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ทุกประเทศเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้และเป็นการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้ |
|
(4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมา |
การลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าบิมสเทคของประเทศสมาชิกจะเป็นการส่งเสริมการจัดตั้งความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้า บิมสเทค ทั้งนี้ เมียนมามีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดต่างๆ เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เมียนมาสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้ได้ |
|
(5) ปลัดกระทรวงพลังงานทรัพยากรน้ำและการชลประทานของเนปาล |
ความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาคบิมสเทคเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของภูมิภาค เนื่องจากประเทศสมาชิกบิมสเทคมีศักยภาพด้านพลังงานที่แตกต่างและหลากหลายซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ ในภูมิภาค โดยเนปาลอยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะทำให้เนปาลมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเนปาลจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศและสามารถส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคผ่านการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคได้ |
|
(6) ปลัด พน. ของศรีลังกา |
ศรีลังกาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยได้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานต่างๆ ควบคู่กัน เช่น การพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าและการพัฒนาแบตเตอรี่และระบบกักเก็บไฟฟ้าสูบกลับ ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างภูมิภาคเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาภาคพลังงานของภูมิภาคบิมสเทคให้ตอบสนองต่อเป้าหมายความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค |
|
(7) ปลัด พน. ของไทย |
ปัจจุบันประชาคมโลกกำลังเผชิญสถานการณ์ด้านพลังงานที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้นและเกิดความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนพลังงาน ดังนั้น ภูมิภาคบิมสเทคจึงต้องเร่งการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดอย่างสมดุล อีกทั้งศักยภาพและความมุ่งมั่นของภูมิภาคบิมสเทคในการร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์พลังงานบิมสเทคและการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดความมั่นคง ยืดหยุ่น และยั่งยืนทางด้านพลังงาน ทั้งนี้ ไทยได้ประกาศเป้าหมายการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2608 (ค.ศ.2065) รวมทั้งได้มีการกำหนดเป้าหมายดังกล่าวในร่างแผนพลังงานชาติ ในปี 2565 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการด้านพลังงานให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ นอกจากนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและการส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า รวมทั้งพร้อมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงและซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคบิมสเทคต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8341