นโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 August 2022 21:57
- Hits: 2355
นโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยระยะแรกสมควรปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสม โดยแบ่งกิจการที่ต้องการส่งเสริมเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) กลุ่มกิจการสำรวจแร่ (2) กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่ และ/หรือแต่งแร่ และ (3) กลุ่มกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรม
2. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และ อก. ประสานความร่วมมือหรือปรึกษาหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. ความสำคัญและทิศทางของอุตสาหกรรมแร่
แร่เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมแร่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และวัตถุดิบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้แร่ขยายตัวขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสู่รูปแบบดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมแร่กลุ่มโลหะพื้นฐาน (base metal)1 โลหะแอลคาไลน์ (alkali metal)2 โลหะมีค่า (precious metal)3 แร่หายาก (rare earth)4 และแร่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ การปรับตัวสู่การใช้พลังงานสะอาดของหลายประเทศ และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องยังช่วยก่อให้เกิดการขยายตัวของการใช้แร่อย่าง ก้าวกระโดด
2. สถานการณ์แร่ในปัจจุบันของประเทศไทย
ประเทศไทยมีทิศทางการเติบโตของแร่สอดคล้องกับทิศทางความต้องการของโลก ทั้งในส่วนของแร่โลหะพื้นฐาน โลหะมีค่า แร่หายาก และแร่อุตสาหกรรมอื่นๆ จากนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ความต้องการใช้แร่ในกลุ่มอโลหะ เช่น หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างสูงขึ้นเช่นกัน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 โดยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ทั้งนี้ ในปี 2563 มูลค่าเพิ่มของการทำเหมืองแร่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่ (forward linkage) อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมี ตลอดจนภาคการเกษตร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก
3. ยุทธศาสตร์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแร่
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้มียุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยระยะ 10 ปีแรก5 มุ่งเน้นที่การปฏิรูปและสร้างความมั่นคงของกลไกการบริหารจัดการแร่ รวมถึงพัฒนากรอบนโยบายการบริหารจัดการแร่ให้ต่อเนื่องชัดเจนทั้งเชิงพื้นที่และชนิดแร่ ตลอดจนมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีในการบริหารจัดการแร่และเยียวยาผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน
4. ปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศไทย
4.1 ขาดข้อมูลแหล่งแร่ที่มีศักยภาพ เนื่องจากการสำรวจแร่เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ใช้เวลาและเงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านความพร้อมของบุคลากร และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง แหล่งแร่ในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเป็นแหล่งแร่ในระดับตื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งแร่หายากหลายชนิด จึงต้องการสำรวจแหล่งแร่เพิ่มเติมเพื่อใช้รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต
4.2 การวิจัยพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศต่ำ เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาใช้เงินลงทุนและมีความเสี่ยงสูง การทำเหมืองในประเทศส่วนใหญ่จึงเป็นแร่ที่มีมูลค่าไม่สูง เช่น ยิปซัม ดินขาว ในขณะที่ แร่มูลค่าสูง เช่น แร่โลหะพื้นฐาน โลหะมีค่า และแร่หายาก ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็น หลัก ภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพาแร่มูลค่าสูงเหล่านี้ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จึงอยู่ภายใต้ความเสี่ยงทั้งในแง่ของราคาและปริมาณ เนื่องจากยังไม่มีการผลิตวัตถุดิบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างเพียงพอ
4.3 ต้นทุนในการทำเหมืองแร่ที่สูงขึ้น เนื่องจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และ อนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องมีบทบัญญัติที่เข้มงวดและให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน อาทิ กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชน กองทุนเพื่อรับประกันความเสี่ยงต่างๆ หรือการประกอบกิจการตามมาตรการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจึงต้องใช้เงินลงทุนสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความคุ้มค่าของโครงการเหมืองแร่
4.4 ขาดการลงทุนเพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพในการผลิต อาทิ ระบบติดตามการทำงานของเครื่องจักรแบบอัตโนมัติ หรือระบบข้อมูลแบบดิจิทัลและประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ และขาดการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบจากการประกอบการต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เช่น การใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน การเทคโนโลยีแร่สมัยใหม่ เพื่อลดปริมาณของเสีย ลดการใช้สารเคมีอันตราย หรือลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ
5. แนวทางการแก้ไขปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศไทย
ปัจจุบันภาครัฐไทยได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นช่วงกลางของห่วงโซ่การผลิต อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ครอบคลุมไปถึงวัตถุดิบที่เป็นต้นน้ำ ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าแร่และวัตถุดิบจากตลาดโลก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ใช้เงินลงทุนสูง และใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน (capital intensive industry) ดังนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านวัตถุดิบโดยการจัดหาแหล่งแร่และวัตถุดิบให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ผ่านการลงทุนใหม่หรือลงทุนเพิ่มเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเหมืองให้มีความทันสมัย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน สอดคล้องกับบริบทของโลกและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงควรกำหนดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยระยะแรกสมควรปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสม โดยแบ่งประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
5.1 กลุ่มกิจการสำรวจแร่6 ครอบคลุมทั้งการสำรวจแร่ทั่วไปและแร่ศักยภาพที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม
5.2 กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่ และ/หรือแต่งแร่7 ครอบคลุมการทำเหมืองสำหรับแร่ศักยภาพ เช่น โลหะพื้นฐาน โลหะแอลคาไลน์ โลหะมีค่า แร่หายากและแร่โพแทช
5.3 กลุ่มกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรม8
ในการนี้ การกำหนดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องผ่านการส่งเสริมการลงทุนจะก่อให้เกิดประโยชน์สำคัญ อาทิ ความมั่นคงของประเทศสูงขึ้นจากการลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่จากต่างประเทศ เกิดการจ้างงานในพื้นที่และการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนภาครัฐมีรายได้สูงขึ้นจากค่าภาคหลวง ภาษี และเศรษฐกิจประเทศที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายข้างต้นเกี่ยวข้องกับภารกิจของส่วนราชการต่างๆ อาทิ สกท. ทส. และ อว. ซึ่งต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อกำหนดเป้าหมายและศึกษารูปแบบและวิธีดำเนินการที่คุ้มค่าเพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
________________
1โลหะพื้นฐาน อาทิ ทองแดง สังกะสี ดีบุก
2โลหะแอลคาไลน์ อาทิ ลิเทียม โซเดียม โพแทสเซียม
3โลหะมีค่า อาทิ ทองคำ เงิน (Silver)
4แร่หายาก อาทิ ซีเซียม ดิสโพรเซียม เออร์เบียม
5สำหรับระยะ 20 ปี มุ่งเน้นการพัฒนาบนฐานของความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในภาพรวมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว การทำเหมืองตามหลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Smart Mining) มีความยั่งยืนภายใต้ดุลยภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
6สำรวจแร่ หมายถึง การเจาะหรือขุด หรือกระทำด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหลายวิธี เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่มีแร่อยู่หรือไม่เพียงใด
7การแต่งแร่ หมายถึง การกระทำใดๆ เพื่อทำแร่ให้สะอาด หรือเพื่อให้แร่ที่ปนกันอยู่ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปแยกออกจากกัน และหมายความรวมถึงการบดแร่ หรือการคัดขนาดแร่
8โลหกรรม หมายถึง การถลุงแร่หรือการทำแร่ให้เป็นโลหะด้วยวิธีอื่นใด และหมายความรวมตลอดถึงการทำโลหะให้บริสุทธิ์ การผสมโลหะ การผลิตโลหะสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปชนิดต่างๆ โดยวิธีหลอม หล่อ รีด หรือวิธีอื่นใด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8113