รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 August 2022 21:52
- Hits: 2460
รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2565 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2565) ของคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565
ที่ประชุม กนง. มีมติเมือ่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 โดยเห็นว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องตามที่คาดการณ์และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีความจำเป็นลดลง ทั้งนี้ กนง. จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
2. การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน
2.1 เศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.4 และ 3.1 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ ที่เร่งตัวสูงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เข้มงวดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูงจากความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครนรวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งมีแนวโน้ม ที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปี 2566
2.2 ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย พบว่า (1) ภาวะการเงินโดยรวมยัง ผ่อนคลาย ส่วนต้นทุนการระดมทุนอยู่ในระดับต่ำและปริมาณการระดมทุนยังขยายตัวได้ดี โดยต้นทุนการระดมทุนมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้นส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นไตรมาสก่อน ซึ่ง กนง. คาดการณ์ว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจที่สูงขึ้นไม่กระทบต่อการระดมทุนในภาพรวม โดยภาคธุรกิจได้ทยอยระดมทุนไปในช่วงก่อนหน้าและมีแนวโน้มระดมทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (2) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ปี 2565 จากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และ (3) ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพแต่การกระจายสภาพคล่องมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบาง กนง. จึงให้ความสำคัญกับการติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง
2.3 แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย
2.3.1 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 4.2 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและกำลังซื้อของกลุ่มรายได้สูง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศดีกว่าที่คาดการณ์
2.3.2 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 สูงกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 7.0 และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.1 สูงกว่าประมาณการเดิมที่ ร้อยละ 1.5 เนื่องจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ด้านปริมาณขยายตัวลดลงเล็กน้อยตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและจีนที่ชะลอลง
2.3.3 ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 อยู่ที่ 6 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 5.6 ล้านคน เนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และในปี 2566 จะมีจำนวนอยู่ที่ 19 ล้านคน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก
2.3.4 การบริโภคภาคเอกชนปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคบริการ แต่ในระยะถัดไปยังมีปัจจัยลบจากต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายและการจ้างงานที่ทยอยฟื้นตัวตามภาคการท่องเที่ยว
2.3.5 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 2.5 ตามลำดับ โดยสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นผลจากแรงกดดันด้านอุปทานเป็นสำคัญ ราคาพลังงานในประเทศที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8111