รายงานผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 August 2022 21:43
- Hits: 2567
รายงานผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอ รายงานผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5/8 (10) แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้ กพม. มีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหาร การพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่ง กพม. ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการประเมินองค์การมหาชนดังกล่าวแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. กรอบการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (กพม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563) ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
1.1 ส่วนที่ 1 องค์ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงาน จำนวน 4 องค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบการประเมิน |
น้ำหนัก (ร้อยละ) |
จำนวนตัวชี้วัด |
องค์ประกอบที่ 1 ประสิทธิผลการดำเนินงาน : เป็นการประเมินการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์จัดตั้ง ประเด็นการปฏิรูปประเทศของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และนโยบายสำคัญหรือเร่งด่วนของรัฐบาล |
40 |
- ตัวชี้วัดที่ครอบคลุมทุกวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง (ไม่จำกัดจำนวนตัวชี้วัด) - ตัวชี้วัดที่เสนอโดยองค์การมหาชน (1 องค์การมหาชน 1 ประเด็นการปฏิรูปประเทศอย่างน้อย 1 ตัวชี้วัด และอาจเสนอตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญหรือเร่งด่วนของรัฐบาลเพิ่มได้อีก 1 ตัวชี้วัด) |
องค์ประกอบที่ 2 ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการดำเนินงาน : เป็นการประเมินประสิทธิภาพในการบริหารงานและความคุ้มค่าในการดำเนินงานการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ ความคุ้มค่าในการบริหารและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด |
30 |
- ตัวชี้วัดที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานความคุ้มค่าในการดำเนินงาน (อย่างน้อย 2 ตัวชี้วัด) - ตัวชี้วัดบังคับ 1 ตัวชี้วัด คือ ร้อยละค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชน |
องค์ประกอบที่ 3 ศักยภาพขององค์การ มหาชน : เป็นการประเมินการพัฒนาศักยภาพองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ในด้านการพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัลและประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) |
20 |
ตัวชี้วัดบังคับ 1 ตัวชี้วัด คือ ผลการพัฒนาศักยภาพองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 |
องค์ประกอบที่ 4 การควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชน : เป็นการประเมินบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การมหาชนเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนให้ตอบสนองต่อสภาพการณ์ปัจจุบันเละความต้องการของผู้รับบริการ |
10 |
ตัวชี้วัดบังคับ 1 ตัวชี้วัด คือ ร้อยละความสำเร็จของการพัฒนาด้านการควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชน |
รวม |
100 |
|
1.2 ส่วนที่ 2 ตัวชี้วัดประกอบการประเมิน ได้แก่ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบการประเมินซึ่งไม่นำมาคำนวณคะแนน
1.3 ส่วนที่ 3 ตัวชี้วัด monitor คือ ตัวชี้วัดที่แสดงผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์การมหาชนเพื่อติดตามผลสำเร็จขององค์การมหาชนรายปี โดยให้องค์การมหาชนรายงานผลตามตัวชี้วัดมายังสำนักงาน ก.พ.ร. (ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพม.) เพื่อเป็นข้อมูลสะสมสำหรับการประเมินความคุ้มค่าในการจัดตั้งองค์การมหาชน โดยไม่นำมาคำนวณคะแนน
2. สรุปผลการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีองค์การมหาชนที่เข้าระบบการประเมิน จำนวน 45 แห่ง ได้แก่ (1) องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 35 แห่ง และ (2) องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 10 แห่ง สรุปได้ ดังนี้
2.1 ผลการประเมินองค์การมหาชนในภาพรวม
ระดับผลการประเมิน (คะแนนเฉลี่ยทุกองค์ประกอบ) |
องค์การมหาชนที่จัดตั้ง ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ |
องค์การมหาชนที่จัดตั้งตาม พระราชบัญญัติเฉพาะ |
|
ประเมินผลตามกรอบ การประเมินฯ |
ประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานเป็นการเฉพาะ1 |
||
ระดับดีมาก : 90 คะแนนขึ้นไป |
23 แห่ง2 |
3 แห่ง |
6 แห่ง |
ระดับดี : ตั้งแต่ 75-84.99 คะแนน |
4 แห่ง |
2 แห่ง |
4 แห่ง |
ระดับพอใช้ : ตั้งแต่ 60-74.99 คะแนน |
2 แห่ง |
1 แห่ง |
- |
ระดับต้องปรับปรุง : ต่ำกว่า 60 คะแนน |
- |
- |
- |
รวม |
29 แห่ง |
6 แห่ง |
10 แห่ง |
2.2 ผลการประเมินตามตัวชี้วัดบังคับที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สรุปได้ ดังนี้
ตัวชี้วัด |
ผลการประเมินเฉลี่ย |
||
องค์การมหาชนที่จัดตั้ง ตามพระราชบัญญัติ องค์การมหาชนฯ3 |
องค์การมหาชนที่จัดตั้ง ตามพระราชบัญญัติเฉพาะ |
ค่าเฉลี่ยของผลการประเมินองค์การมหาชน |
|
ร้อยละค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชน |
ร้อยละ 22.77 |
ร้อยละ 28.16 |
ร้อยละ 25.46 |
ร้อยละความสำเร็จของการพัฒนาด้านการควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชน |
ร้อยละ 97.48 |
ร้อยละ 91.80 |
ร้อยละ 94.64 |
ร้อยละความพึงพอใจในการให้บริการขององค์การมหาชน4 |
ร้อยละ 85.66 |
ร้อยละ 88.91 |
ร้อยละ 87.28 |
หมายเหตุ : ผลการประเมินเฉลี่ยในส่วนของร้อยละค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและร้อยละความสำเร็จของการพัฒนาด้านการควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชน ไม่รวมองค์การมหาชนที่ต้องติดตามประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ การประเมินสถานะขององค์การมหาชนในการเป็นระบบราชการ 4.0 (คะแนนเต็ม 500 คะแนน) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดบังคับภายใต้องค์ประกอบที่ 3 การประเมินศักยภาพขององค์การมหาชน มีผลการประเมิน ดังนี้ (1) องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ มีผลคะแนนสูงกว่า 250 คะแนน จำนวน 16 แห่ง และมีคะแนนต่ำกว่า 250 คะแนน จำนวน 13 แห่ง และ (2) องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ มีคะแนนสูงกว่า 250 คะแนน จำนวน 9 แห่ง และมีคะแนนต่ำกว่า 250 คะแนน จำนวน 1 แห่ง
2.3 ปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์การมหาชนในภาพรวม เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มาอย่างต่อเนื่องทำให้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อองค์การมหาชน เช่น การประกาศยกเลิก/เลื่อนการจัดงานประชุมและนิทรรศการ ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) การปิดสถานที่และงดให้บริการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) และการปิดด่านชายแดนระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการที่เป็นการดำเนินการร่วมระหว่างองค์การมหาชนและประเทศเพื่อนบ้าน ของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ซึ่งจากเหตุปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของตัวชี้วัดที่กำหนดทำให้ในภาพรวมมีองค์การมหาชนขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายมากถึง 19 แห่ง
3. ในการประชุมฯ กพม. ได้เห็นชอบให้ยกเว้นการคัดเลือกองค์การมหาชนดีเด่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และมีข้อสังเกตว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในภาพรวมขององค์การมหาชน และยังส่งผลต่อเนื่องไปยังการคัดเลือกองค์การมหาชนดีเด่นที่ไม่สามารถคัดเลือกได้ จึงควรพิจารณาคัดเลือกและให้รางวัลกับองค์การมหาชนที่มีผลงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือองค์การมหาชนที่มีผลงานโดดเด่นด้าน อื่นๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อเป็นแรงจูงใจในเชิงบวกแก่องค์การมหาชนแทนการคัดเลือกองค์การมหาชนดีเด่น นอกจากนี้ ยังได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดตัวชี้วัดขององค์การมหาชนในอนาคตว่า ควรพิจารณาความเหมาะสมของพันธกิจตามกลไกสำคัญในระบบนิเวศน์และห่วงโซ่ผลการดำเนินงานของ แต่ละองค์การมหาชน เพื่อให้ทราบทิศทางในการดำเนินงานและการกำหนดคุณภาพตัวชี้วัดที่สร้างผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. จะนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป
_______________________
1คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (อ.กพม.) เป็นผู้พิจารณาตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานเป็นการเฉพาะ เช่น การประเมินความสำเร็จในการดำเนินงานขององค์การมหาชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการหรือยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง หรือองค์การมหาชนที่ต้องมีการปรับบทบาทภารกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับองค์การมหาชน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ (1) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (2) สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) (3) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (4) สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (5) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และ (6) สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การหาชน)
2องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ ที่ประเมินผลตามกรอบการประเมินฯ และมีผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก (90 คะแนนขึ้นไป) เช่น (1) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (2) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (3) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (4) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (5) สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (6) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ (7) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
3การกำหนดร้อยละค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชนไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณค่าใช้จ่ายตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการองค์การมหาชนในปีงบประมาณ ยกเว้นองค์การมหาชนที่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561
4จากการประสานสำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า ร้อยละความพึงพอใจในการให้บริการขององค์การมหาชน เป็นประเด็นการประเมินภายใต้องค์ประกอบที่ 4 ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจของผู้รับบริการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8110