สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 14 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 พฤษภาคม 2565)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 August 2022 21:23
- Hits: 2382
สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 14 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 พฤษภาคม 2565)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและ ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 14 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 พฤษภาคม 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. นโยบายหลัก 11 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายหลัก |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ |
1.1) เปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “Giving Light มอบแว่นตา มอบแสงแห่งชีวิต” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา (28 กรกฎาคม 2565) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้บริการตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นสายตาให้แก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 รุ่น รุ่นละ 400 คน และดำเนินโครงการแว่นตาผู้สูงวัยในสมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดตาก โดยให้บริการแก่ผู้สูงวัยที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้และมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสายตาให้เข้ารับบริการตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นตา รวม 400 คน 1.2) จัดกิจกรรมจิตอาสาสานพลังรักน้ำปิง รักวิถีชุมชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสเฉลิม พระชนมพรรษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ณ จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในพื้นที่ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือการระบายสิ่งสกปรกสงสู่แม่น้ำ |
|
2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ |
ขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศ โดยศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก จังหวัดระนอง ได้แจ้งผลการเข้า-ออกของเรือ 4,418 ครั้ง แจ้งการเข้าของแรงงาน 22,017 คน และแจ้งการออกของแรงงาน 22,050 คน ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดระนองมีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานอยู่ในพื้นที่ 34,111 คน |
|
3) การทำนุบำรุงศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม |
3.1) เปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของไทย พร้อมจัดสร้างศูนย์บริการข้อมูลปราสาทสถาปัตยกรรมวัฒนธรรมเขมร ศิลาจารึกชิ้นสำคัญ นำเสนอการอนุรักษ์และบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป 3.2) จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “สืบศิลป์ถิ่นอีสาน ESAN DO DEE” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและงานวิสาขปุณณมีปูชา ประเพณีสรงน้ำพระธาตุยาคู ทะเลธุงอีสาน ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 13 - 17 พฤษภาคม 2565 ณ โบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง พระธาตุยาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้เข้าร่วมงาน 220,945 คน มีรายได้หมุนเวียน 52.09 ล้านบาท 3.3) ให้ทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวม 132 โครงการ/กิจกรรม วงเงิน 299.12 ล้านบาท |
|
4) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก |
4.1) กิจกรรมการเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 โดยไทยได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาคเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนเร่งขับเคลื่อนประเทศและประชาชนไปสู่อนาคต ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยึดมั่นระบบการค้าเสรีและเปิดการค้าเสรีกับหลายประเทศ 4.2) เข้าร่วมประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27* ระหว่างวันที่ 26 - 27 พฤษภาคม 2565 ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเหตุผลหลักในการเข้าร่วมประชุม เช่น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ความพร้อมของไทยในการร่วมมือกับญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และการแบ่งปันมุมมองของไทย รับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์กับทุกฝ่าย ซึ่งไทยได้แบ่งปันมุมมองของไทย ที่เอเชียจะร่วมกันเพื่อมุ่งให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค |
|
5) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย |
5.1) พัฒนาภาคอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ได้มีพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) รายแรกที่เข้าร่วมสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ จะได้สิทธิประโยชน์จากภาษีสรรพสามิตอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 1 และเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับการนำเข้ารถจักรยานยนต์ BEV ในปี 2565-2566 และผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ในปี 2565-2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ ได้วางแผนที่จะผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ในปี 2565 จำนวน 32,000 คัน ปี 2566 จำนวน 38,400 คัน ปี 2567 จำนวน 46,400 คัน และปี 2568 จำนวน 56,000 คัน 5.2) พัฒนาภาคเกษตร เช่น ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ส่งเสริมความร่วมมือเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาพืชผักสมุนไพรเป็นสินค้าเกษตรชนิดพิเศษสีเขียว (SAP-Special Agricultural Products) โครงการหนึ่งประเทศหนึ่งผลิตภัณฑ์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ขับเคลื่อนการผลิตทุเรียนนนท์ทำให้พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,280 ไร่ เกษตรกร 1,162 ครัวเรือน 5.3) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว เช่น ดำเนินโครงการ Amazean Jungle Trail เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาวิ่งเทรลและส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเบตง จังหวัดยะลา ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2565 และจัดกิจกรรม “1 โรงเรียน 1 ลานกีฬา” โดยมอบลานกีฬา อุปกรณ์กีฬา และปรับปรุงอาคารเรียนให้กับโรงเรียนเทศบาล 4 บ้านกาแป๊ะฮูลู จังหวัดยะลา 5.4) พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้าการบริการและการลงทุนในภูมิภาค เช่น จัดประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 2022 ภายใต้หัวข้อ “เปิดกว้างสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565 จัดงานแสดงสินค้าและเครื่องดื่ม “THAIFEX-ANUGA ASIA 2022” มีผู้ประกอบการไทยและต่างชาติเข้าร่วมแสดงสินค้า 1,603 บริษัท มีผู้เข้าชมงาน 83,099 คน เกิดมูลค่าการสั่งซื้อกว่า 66,169 ล้านบาท และส่งเสริมการขนส่งผลไม้ทางอากาศ เพื่อระบายผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2565 ออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5.5) พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น กำหนดเพิ่มเส้นทางให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะที่ 3 เพิ่ม 3 สายทาง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ประกอบด้วย (1) ทล.4 เขาวัง-สระพระ จังหวัดเพชรบุรี (เป็นช่วงๆ) (2) ทล.9 บางแค-คลองมหาสวัสดิ์ ระหว่าง กม.23+400-กม.31+600 กรุงเทพมหานคร และ (3) ทล.35 นาโคก-แพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงคราม (เป็นช่วงๆ) 5.6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ เช่น ขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (d-DATA) ของไทย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมไทยในยุคดิจิทัล และเสนอผลงานด้านการพัฒนาดิจิทัลสำคัญของไทยในเวทีประชุม “Huawei APAC Digital Innovation Congress” ณ ประเทศสิงคโปร์ 5.7) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม เช่น พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการปิเปตต์ใช้ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์สำหรับการตรวจหาเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และต่อยอดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง “อุบลโมเดล” ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม” เพื่อปรับเปลี่ยนการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพดี โดยในปี 2564 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 1.30 ล้านบาท |
|
6) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของฐานราก |
6.1) พัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าจาก 4 ภูมิภาค 480 กลุ่ม/ราย 6.2) จัดงาน “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากนำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เพื่อพัฒนาทักษะการผลิตผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้ชุมชน เช่น การทำน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน และการออกบูทให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆ 6.3) พัฒนาทักษะดิจิทัลให้ชุมชนสร้างโอกาสทางการตลาดออนไลน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถหมู่บ้านอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย จัดทำคอนเทนต์เพื่อเล่าเรื่องของชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน เพิ่มช่องทางการจำหน่ายและเพิ่มรายได้ โดยนำระบบดิจิทัลมาผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิมจะช่วยดึงจุดเด่นของชุมชน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้เพิ่มขึ้น |
|
7) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย |
7.1) ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพ 349 แห่ง ภายใต้กรอบการดำเนินงานและจุดเน้น 8 ด้าน เช่น ความปลอดภัยของผู้เรียน ระบบประกันคุณภาพ หลักสูตรสมรรถนะการพัฒนาครู การเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล 7.2) ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้สิน และเสริมสภาพคล่องด้านการบริหารจัดการศึกษาเอกชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้โรงเรียนเอกชนในระบบขนาดเล็กขอกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบได้ 7.3) สร้างเครือข่าย สร้างอนาคตให้แรงงานไทย ภายใต้โครงการ 3 ม. “มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม” ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางาน สถาบันการศึกษา 4 แห่ง และสถานประกอบการภาคเอกชน 13 แห่ง และเปิดงานมหกรรม สร้างงาน สร้างอาชีพสู่ EEC ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก ได้เตรียมตำแหน่งงานว่าง 1,700 อัตรา จากสถานประกอบการ 20 แห่ง โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้สมัครงาน 1,778 คน และได้รับการบรรจุงาน 1,357 คน |
|
8) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม |
8.1) จัด “มหกรรมคุณภาพ ทุ่งพญาไท” ครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพในสถานการณ์โควิด-19” มีโรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์ในพื้นที่ทุ่งพญาไทและย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี 11 แห่ง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและพัฒนาคุณภาพงานบริการ ทั้งนี้ มีโรงพยาบาลในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี 4 แห่ง เริ่มแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพให้ผู้ป่วย 4 โรค (โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษามากขึ้น 8.2) ขยายการออกใบรับรองสุขภาพดิจิทัล สำหรับคลินิกเวชกรรม คลินิก ทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ ร้านยา และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อพัฒนา Digital Health Platform ให้รองรับการใช้งานของประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั้งประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่จำกัดจำนวนผู้ลงนามเป็นเวลา 2 ปี 8.3) กำหนดให้ “โรคฝีดาษวานร” เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศและยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง |
|
9) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน |
9.1) ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หนองคลองก่าม และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูลำปึกบ้านดอนหัน ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ โดยสามารถเก็บกักน้ำได้ 514,000 ลูกบาศก์เมตร มีประชาชนได้รับประโยชน์ 213 ครัวเรือน และสนับสนุนพื้นที่การเกษตร 480 ไร่ 9.2) องค์การอนามัยโลกมอบรางวัล World No Tobacco Day 2022 Awards ความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายชายหาดปลอดบุหรี่เป็นต้นแบบให้ทั่วโลกให้กับไทย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนและผลักดันการสร้างสิ่งแวดล้อง สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ให้ปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน |
|
10) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ |
ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำเหน็จบำนาญชราภาพเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ และนำเงินกรณีชราภาพที่ตนเองสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วนได้ ตลอดจนรองรับสังคมผู้สูงอายุ |
|
11) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและกระบวนการยุติธรรม |
ผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตทั่วประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ระหว่างวันที่ 6-11 พฤษภาคม 2565) พบการกระทำผิด 608 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 10.06 ล้านบาท โดยมีของกลางแยกเป็น น้ำสุรา 2,195.029 ลิตร ยาสูบ 8,556 ซอง ไพ่ 238 สำรับ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 13,900 ลิตร รถจักรยานยนต์ 14 คัน |
2. นโยบายเร่งด่วน 9 เรื่อง ประกอบด้วย
นโยบายเร่งด่วน |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน |
เช่น (1) ลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม - 20 กรกฎาคม 2565) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ (2) ดำเนินโครงการ “พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน” เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 (3) ให้การช่วยเหลือด้านหนี้สินแก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้ได้รับการลดภาระดอกเบี้ย 976 แห่ง 353,274 ราย (4) บริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส มีเกษตรกรได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 13,946 ราย และ (5) ลดอุปสรรคการประกอบอาชีพประมงพาณิชย์และประมงชายฝั่ง รวมถึงดูแลประมงพื้นบ้านให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงให้เป็นไปตามกฎหมาย 279 ครั้ง ตรวจสอบระบบตรวจสอบย้อนกลับของโรงงาน 168 แห่ง ออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและ Annex IV จำนวน 3,391 ฉบับ และสุ่มตรวจชนิดและปริมาณวัตถุดิบสัตว์น้ำหน้าสถานประกอบการ 1,083 ครั้ง |
|
2) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน |
สนับสนุนการพัฒนาและสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน 1,222 กองทุน ครอบคลุมสมาชิก 1.07 ล้านคน ในการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้สมาชิกตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงของคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น |
|
3) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม |
ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบการดำเนินโครงการฯ มีพื้นที่เป้าหมายรวมของค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานและอัตราเบี้ยประกันภัยแบบสมัครใจ 29 ล้านไร่ วงเงิน 1,925.065 ล้านบาท |
|
4) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน |
ส่งเสริมการส่งแรงงานไทยไปทำงานรัฐอิสราเอล 208 คน ทั้งนี้ ภาพรวมในปี 2565 ได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในทุกประเทศ รวม 17,512 คน มีรายได้กลับเข้าประเทศประมาณ 82,506 ล้านบาท |
|
5) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต |
(1) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 11 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนเมืองพัทยาสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ของยูเนสโกและศูนย์กลางอุตสาหกรรมในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ สู่การขยายฐานสร้างรายได้กับชุมชนและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ และ (2) สนับสนุนการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 183 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 93,972 ล้านบาท |
|
6) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 |
(1) แก้ไขปัญหาข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti-Fake News Center: AFNC) ได้ตรวจสอบข้อความข่าว 306 เรื่อง (ข่าวปลอม 63 เรื่อง ข่าวจริง 219 เรื่อง ข่าวบิดเบือน 24 เรื่อง) และนำไปเผยแพร่ 187 เรื่อง และรอดำเนินการเผยแพร่ 119 เรื่อง และ (2) เฝ้าระวังเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ได้มีคำสั่งศาลให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมาย 11 คำสั่งศาล รวม 271 URLs |
|
7) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ |
ในเดือนพฤษภาคม 2565 กองกำลังป้องกันชายแดนได้สกัดกั้นและปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด สามารถจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 108 ครั้ง ผู้ต้องหา 108 คน ยึดได้ของกลางยาบ้า 14,409,967 เม็ด ไอซ์ 10 กิโลกรัม เฮโรอีน 0.265 กิโลกรัม คีตามีน 132 กิโลกรัม ฝิ่น 1.272 กิโลกรัม กัญชาแห้ง 3,250.246 กิโลกรัม และดอกกัญชาแห้ง 27 กิโลกรัม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จับกุมคดียาเสพติด 22,205 คดี ผู้ต้องหา 22,771 คน ยึดของกลางยาบ้า 62,077,221 เม็ด ไอซ์ 545.78 กิโลกรัม เฮโรอีน 1.12 กิโลกรัม กัญชา (แห้ง) 5,653.46 กิโลกรัม โคเคน 1.55 กิโลกรัม เคตามีน 137.56 กิโลกรัม และ ยาอี 42,474 เม็ด |
|
8) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน |
อยู่ระหว่างปรับปรุงเงื่อนไขวีซ่าประเภทพิเศษ “Smart Visa” เพื่อขยายขอบข่ายการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ SMART Visa ให้กว้างและจูงใจมากขึ้น รวมถึงผ่อนปรนหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 มีผู้ขอรับรองคุณสมบัติ 234 คำขอ และมีผู้ผ่านการรับรองฯ 164 คำขอ |
|
9) การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย |
ได้มีการสำรวจและซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ประสบวาตภัยในพื้นที่ 23 จังหวัด มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 1,490 หลังคาเรือน ดำเนินการซ่อมแซมแล้ว 1,395 หลังคาเรือน |
________________________________
* คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 รับทราบผลการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8109