การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 02 August 2022 21:18
- Hits: 2435
การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,249.296 ล้านบาท ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) เพื่อดำเนินงานโครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ตามความเห็นของ สำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของไทย ทำให้การว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น กำลังซื้อภายในประเทศจึงปรับตัวลดลงตามไปด้วยเนื่องจากรายได้ของครัวเรือนลดลง นอกจากนี้ภาคเกษตรไทยยังมีแนวโน้มที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และบ่อยครั้งขึ้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ควบคู่ไปกับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน
2. อก. ได้นำนโยบายไปปฏิบัติ โดยมุ่งเป้าการพัฒนาชุมชนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในวิถีปกติใหม่เป็น “ชุมชนดีพร้อม” ที่มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนผ่านกลไก “7 วิธีปั้นชุมชนดีพร้อม” ดังนี้
7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม |
รายละเอียดโดยสรุป |
1. แผนชุมชนดีพร้อม |
เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นเศรษฐกิจฐานราก ที่มีการวิเคราะห์ศักยภาพเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และจุดเด่นของแต่ละชุมชน อย่างมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่น |
2. คนชุมชนดีพร้อม |
- คนต้องมีอาชีพและอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อย่างพอเพียงได้ - นักศึกษาต้องมีโอกาสและอาชีพในชุมชนบ้านเกิด - สร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายให้กับผู้นำชุมชนในแต่ละระดับ - ขยายผลตามโมเดลดีพร้อมฮีโร่ (DIPROM HEROES) หรือโครงการสร้างเครือข่ายผู้นำธุรกิจยุคใหม่เพื่อสร้างไทยยั่งยืนที่เป็นการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เป็นกลไกการพัฒนาชุมชน |
3. แบรนด์ชุมชนดีพร้อม |
สร้างแบรนด์ให้ชุมชนจากอัตลักษณ์อันเป็นจุดเด่นในพื้นที่ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว อาทิ ชุมชนสรรพยา อำเภอสรรพยา โดยใช้โรงพักสรรพยา 100 ปี ชุมชนตลาดย้อนยุคสรรคบุรี อำเภอสรรคบุรี เป็นต้น |
4. ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม |
ต่อยอดผลิตภัณฑ์เด่นหรือมีอัตลักษณ์ในพื้นที่เพื่อเสริมความน่าสนใจและจุดเด่นให้ชุมชนและกระตุ้นความต้องการของผู้ซื้อและนักท่องเที่ยวให้แก่ชุมชน |
5. เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม |
ยกระดับการผลิตในภาคเกษตรอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่กระบวนการผลิตแบบ 4.0 ในแต่ละชุมชน โดยพัฒนาเครื่องจักรที่ออกแบบมาอย่างเฉพาะทาง มีการให้บริการเครื่องจักรแปรรูปและเครื่องจักรกลเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ผ่าน Application IAID และศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ทั่วประเทศ |
6. ตลาดชุมชนดีพร้อม |
สร้างโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน สามารถเข้าสู่ช่องทางการตลาดในร้าน Modern Trade และตลาดออนไลน์ |
7. เงินหมุนเวียนดีพร้อม |
มีมาตรการสินเชื่อระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการ ร่วมกับการเสริมอาวุธความรู้ทางธุรกิจและการจัดการเงิน |
ซึ่งสำหรับกลไก “คนชุมชนดีพร้อม” อก. โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เริ่มดำเนินโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” เพื่อเสริมทักษะในการประกอบธุรกิจใน 7 พื้นที่นำร่อง1 อก.จึงมีข้อเสนอในการขยายผลโครงการให้ครอบคลุมทั้งประเทศ (ข้อเสนอในครั้งนี้) โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินงานโครงการ วงเงิน 1,249.296 ล้านบาท โดยโครงการมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์ : ส่งเสริมและพัฒนาคนในชุมชนให้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
2.2 กลุ่มเป้าหมาย
2.2.1 ผู้รับประโยชน์โดยตรง : คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 (ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ราษฎรที่เกี่ยวข้อง) ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและกลับคืนถิ่น ตลอดจนประชาชนที่สนใจเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้ตนเองกว่า 700,000 คน
2.2.2 ผู้รับประโยชน์โดยอ้อม : ชุมชนอย่างน้อย 400 พื้นที่ทั่วประเทศได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งภายหลังโควิด 19
2.3 ผลสัมฤทธิ์ : เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท
2.4 ระยะเวลาดำเนินการ : 3 เดือน ระหว่างกรกฎาคม - กันยายน 2565
2.5 การดำเนินการ : จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานและทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ โดยแบ่งหลักสูตรการพัฒนาออกเป็น 4 หลักสูตร ดำเนินการผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 12 แห่ง และส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) และมีค่าบริหารจัดการโครงการ ได้แก่
หลักสูตร |
จำนวน (คน) |
วงเงิน (ล้านบาท) |
หลักสูตรที่ 1 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต เช่น กลุ่มอาชีพการทำของใช้ในครัวเรือน (ไม้กวาดทางมะพร้าว น้ำยาล้างจาน เป็นต้น) กลุ่มอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้าน (งานจักรสาน เครื่องประดับและของที่ระลึก เป็นต้น) |
350,000 |
529.900 |
หลักสูตรที่ 2 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ เช่น กลุ่มอาชีพช่าง (ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมรถ ซ่อมแอร์ เป็นต้น) กลุ่มอาชีพบริการ (ช่างเย็บผ้า ช่างตัดผม เป็นต้น) |
40,000 |
67.560 |
หลักสูตรที่ 3 พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์และแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น สอดรับกับความต้องการของตลาดและสามารถกระจายสินค้าและบริการได้อย่างกว้างขวาง |
270,000 |
476.280 |
หลักสูตรที่ 4 พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการเงินในภาคครัวเรือน/ภาคธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ การบัญชี การตลาด เป็นต้น |
40,000 |
48.560 |
ค่าบริหารจัดการโครงการ เช่น ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม (ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก พาหนะ) ค่าใช้จ่ายในการติดตามและประเมินผลโครงการโดยบุคคลภายนอก ค่าเปิดตัวโครงการ (Kick Off) ค่าจ้างเหมาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน |
- |
126.996 |
รวม |
700,000 |
1,249.296 |
หมายเหตุ : ค่าใช้จ่ายของหลักสูตรที่ 1 - 4 เช่น ค่าจัดประชุม หรือจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชน และกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้ารับการพัฒนาได้มากกว่า 1 หลักสูตร
3. สำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการให้ อก. (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,249.296 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยให้พิจารณาปรับลดวงเงินและเป้าหมายการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่เหลือภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และตามศักยภาพในการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยขอทำความตกลงรายละเอียดค่าใช้จ่ายกับ สงป. ตามขั้นตอน (อก. ได้ปรับปรุงรายละเอียดโครงการให้สอดคล้องกับความเห็นของ สงป. เรียบร้อยแล้ว)
__________________________________
* 7 พื้นที่นำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดสุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สงขลา ชลบุรี และยะลา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 สิงหาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8108