ขอความเห็นชอบในการจัดทำความตกลงระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งประเทศไทยกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิชาการและความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 21 July 2022 23:17
- Hits: 2965
ขอความเห็นชอบในการจัดทำความตกลงระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งประเทศไทยกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิชาการและความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำความตกลงระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติด (ปส.) แห่งประเทศไทย (ไทย) กับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Nuclear Regulatory Commission : USNRC) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิชาการและความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (ความตกลงฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อไทยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามความตกลงฯ ในฐานะส่วนราชการเจ้าของเรื่อง โดยเป็นที่ยอมรับกันระหว่างคู่ภาคี (ปส. และ USNRC) ว่าไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (1 พฤศจิกายน 2554 และ 10 มกราคม 2560) เห็นชอบความตกลงระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แห่งประเทศไทย (ไทย) กับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์ แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Nuclear Regulatory Commission: USNRC) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางวิชาการและความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (ความตกลงฯ) ที่จัดทำขึ้นเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล แลกเปลี่ยนมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดหรือเสนอแนะโดยองค์การต่างๆ ของ ปส. และ USNRC เพื่อการกำกับดูแลความปลอดภัย และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2555 (มีอายุ 5 ปี) และได้มีการขยายระยะเวลาความตกลงฯ จนถึงเดือนมีนาคม 2565 โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ครอบคลุมความร่วมมือทางวิชาการในด้านความมั่นคงและการพิทักษ์ทางนิวเคลียร์นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และได้มีการจัดทำความตกลงที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างความตกลงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เรื่อง การประยุกต์ใช้และการบำรุงรักษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้านเทอร์มัลไฮโดรลิกส์ ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับข้อผิดพลาดและความบกพร่องของรหัสคำสั่งและร่วมกันแก้ไข รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์การวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยใช้รหัสคำสั่งการวิเคราะห์เครื่องปฏิกรณ์ และการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการอุบัติเหตุ และ (2) ร่างความตกลงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการของ USNRC ในเรื่องการวิจัยอุบัติเหตุร้ายแรงทางนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการทำวิจัยร่วมกันในโครงการวิจัยอุบัติเหตุร้ายแรงที่สนับสนุนโดย USNRC และโครงการวิจัยในลักษณะเดียวกันที่สนับสนุนโดย ปส. ซึ่งความตกลงฯ ฉบับดังกล่าวได้หมดอายุแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อการสานต่อความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ของทั้งสองฝ่าย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการจัดทำความตกลงฯ (ฉบับใหม่) ซึ่งร่างความตกลงฯ ที่นำเสนอในครั้งนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับความตกลงฉบับก่อนหน้า (ปรับถ้อยคำเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น) โดยเป็นเอกสารสัญญาที่กำหนดขอบข่ายและแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิคเกี่ยวกับกฎและระเบียบ ตลอดจนมาตรฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย การพิทักษ์ความปลอดภัย การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ตลอดจนการจัดการกากกัมมันตรังสี การส่งเสริมความร่วมมือในการฝึกอบรมและการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ โดยมีสาระสำคัญ เช่น (1) ขอบข่ายของความตกลงฯ (การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการที่ไม่เป็นความลับความร่วมมือในการวิจัยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์) (2) การบริหารจัดการ (การประสานงานสำหรับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนต่างๆ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่แลกเปลี่ยนมาระหว่างคู่สัญญา) (3) การแลกเปลี่ยนและการใช้ข้อมูล (การบันทึกข้อมูลกรรมสิทธิ์) เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7662