ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนมะเขือแจ้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 July 2022 23:36
- Hits: 3837
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนมะเขือแจ้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนมะเขือแจ้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยเป็นผังพื้นที่เปิดใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดลำพูน ซึ่งกำหนดให้ “ชุมชนมะเขือแจ้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”โดยเฉพาะด้านการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของจังหวัดและภาคเหนือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีจุดมุ่งหมายให้ชุมชนน่าอยู่ควบคุมการขยายตัวของชุมชนในทิศทางที่เหมาะสม ส่งเสริมรักษาพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีของจังหวัดลำพูน และสงวนรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โดยได้มีการกำหนดแผนผังและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมจำแนกออกเป็น 14 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะกิจการที่ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้นๆ รวมทั้งกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการในที่ดินแต่ละประเภท ตลอดจนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง ซึ่ง มท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศ
กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. กำหนดให้ผังเมืองรวมชุมชนมะเขือแจ้ จังหวัดลำพูน มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1.1 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนมะเขือแจ้ให้เป็นศูนย์กลางการบริการและการรองรับการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
1.2 ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจและสังคม
1.3 เพื่อรองรับการขยายตัวและการกระจายตัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
1.4 ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
1.5 สงวนและรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่โล่งของชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน
1.6 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. กำหนดประเกทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 14 ประเภท ดังนี้
ประเภท |
วัตถุประสงค์ |
|
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยแน่นหนาน้อย (สีเหลือง) |
- เป็นพื้นที่รอบนอกชุมชนเมืองต่อจากพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่เบาบาง มีการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูง เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่เบาบาง มีการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูง |
|
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) | - เป็นพื้นที่บริเวณต่อเนื่องหรือล้อมรอบพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางที่มีการสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารชุด หอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม โดยมีข้อจำกัดเรื่องความสูงของอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่พิเศษ | |
3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) |
- เป็นศูนย์กลางชุมชนเมืองและศูนย์กลางรองในกรณีเมืองมีพื้นที่กว้างจำเป็นต้องมีหลายศูนย์กลาง มีวัตถุประสงค์ให้เป็นบริเวณที่ประกอบพาณิชย์ ธุรกิจ และการค้า ประกอบด้วย ตลาด ศูนย์การค้า สำนักงาน โรงแรม โดยไม่มีการจำกัดความสูงและพื้นที่ของอาคาร ซึ่งกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับการประกอบกิจการดังกล่าว | |
4. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) | - เป็นอุตสาหกรรมที่กำหนดให้อยู่นอกชุมชนเมือง พื้นที่ราบ และอยู่ในบริเวณที่สะดวกแก่การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การคมนาคมขนส่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประกอบอุตสาหกรรมได้ทุกชนิดและประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพการทางเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเอกชนหรือนโยบายของรัฐบาล | |
5. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม และคลังสินค้า (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีม่วง) | - เป็นอุตสาหกรรมที่กำหนดให้สามารถอยู่ใกล้แหล่งชุมชนหนาแน่นน้อยได้ซึ่งต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมตามที่ได้กำหนดไว้ในบัญชีท้ายข้อกำหนด เช่น โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตผลเกษตรกรรม โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำนม น้ำมันจากพืชหรือสัตว์ หรือไขมันสัตว์ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกเลต หรือขนมหวาน เป็นต้น | |
6. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) | - เป็นพื้นที่ฉนวน (Buffer Zone) ของชุมชนเมืองให้คงสภาพชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมประกอบด้วยการประกอบเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ | |
7. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและ เส้นทแยงสีเขียว) |
- เป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพของดินเหมาะสมเพื่อการเกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์อาชีพเกษตรกรรมให้มั่นคง | |
8. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียวมีกรอบและ เส้นทแยงสีน้ำตาล) |
- เป็นพื้นที่เขตดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม | |
9. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) |
- เป็นพื้นที่โล่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ มีที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น สวนป่าสาธารณประโยชน์ | |
10. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนและเส้นทแยงสีขาว) |
- เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และพื้นที่ของเอกชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว กรณีที่ดินของป่าไม้ มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำหรับที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับป่าไม้โดยมีการผ่อนปรนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการดำรงอยู่ได้ เช่น การอยู่อาศัย เกษตรกรรม โดยมีข้อจำกัดเรื่องขนาดและความสูงของอาคาร | |
11. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) | - มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น โรงเรียน | |
12. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีฟ้า) |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและทำการประมง และต้องการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนเมือง | |
13. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) | - มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันศาสนาตามการใช้ที่ดินในปัจจุบัน เช่น วัด มูลนิธิจิตเมตตาธรรม สำนักสงฆ์ | |
14. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) | - มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น โรงพยาบาล สำนักงานเทศบาล ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง |
3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม และคลังสินค้า (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีม่วง) ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ข ถนนสาย ค 1 ถนนสาย ค 2 ถนนสาย ค 3 ถนนสาย ค 4 และ ถนนสาย ค 5 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทยโดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
4.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธราณูปการ
4.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
4.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7465