หลักการในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 July 2022 23:26
- Hits: 3855
หลักการในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และแผนการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ โดยให้รับความเห็นหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการ ก่อนดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. รายงานว่า
1. พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ/ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกลง โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 และโดยที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 34 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมาย ประเมินผลสัมฤทธิ์อย่างน้อยทุกห้าปีนับแต่วันที่กฎหมายฉบับนั้นมีผลใช้บังคับ ประกอบกับปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการพัฒนาการให้บริการของภาครัฐซึ่งจะสนับสนุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ทบทวนกฎหมายและจัดทำรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย1 รวมทั้งศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ และนำไปฟังความคิดเห็นของประชาชน เอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 4 – 30 พฤศจิกายน 2564 โดยจำแนกประเด็นการรับฟังความคิดเห็นออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ภาคประชาชนในฐานะผู้รับบริการ จำนวน 246 คน และภาครัฐในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต จำนวน 208 คน สรุปความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้ ดังนี้ (1) ควรขยายขอบเขตจากเรื่องการอนุญาตให้ครอบคลุมไปถึงการให้บริการอื่น โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นงานลักษณะใด (2) การเปลี่ยนจากการให้คณะกรรมการมีอำนาจในการอนุญาตเป็นหัวหน้างาน ให้คำนึงถึงความจำเป็น เนื่องจากบางงานยังต้องใช้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ (3) การชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาตและการทดลองประกอบกิจการชั่วคราวควรดำเนินการในงานที่มีความเสี่ยงต่ำ (4) ระบบการอนุญาตหลัก (Super License) กลุ่มผู้ให้ความเห็นจากภาครัฐเห็นว่าไม่ควรกำหนดให้ตรวจสอบ อนุมัติ/อนุญาตจากหน่วยงานหลักหน่วยงานเดียว เนื่องจากบางใบอนุญาตมีกฎหมายหลายฉบับ (5) การทบทวนขั้นตอนและระยะเวลาในคู่มือสำหรับประชาชนทุก 2 ปี ควรรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง และใช้วิธีที่ประชาชนเข้าถึงได้ แต่กลุ่มผู้ให้ความเห็นจากภาครัฐบางส่วนเห็นว่าเป็นภาระกับหน่วยงาน (6) การอนุญาตโดยปริยาย อาจทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งพิจารณา ซึ่งจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรืออาจมีการใช้ช่องทางกระทำการทุจริต (7) เอกสารราชการภาษาอังกฤษ ควรจัดทำในงานที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ และ (8) ควรจัดตั้งหน่วยงานเป็น One Stop Service เพื่อลดความยุ่งยากและลดระยะเวลาในการติดต่อราชการ พร้อมทั้งมีระบบคำขอกลางโดยใช้รูปแบบเดียวกันและใช้ single form
2. ก.พ.ร. ได้ประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบในหลักการและสาระสำคัญของการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ที่นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงร่วมด้วยแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 การขยายขอบเขตของกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมงานบริการที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชน จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะงานบริการที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาต และแก้ไขชื่อให้สอดคล้องกับการขยายขอบเขตการบังคับใช้ เป็น “พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการแก่ประชาชน พ.ศ. ....”
2.2 การพิจารณาความจำเป็นหรือมีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต โดยให้ผู้อนุญาตทบทวนกฎหมายที่ให้อำนาจในการอนุญาตทุก 5 ปี ในประเด็นต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนการอนุญาตเป็นการจดแจ้ง การปรับเปลี่ยนการพิจารณาอนุญาตโดยคณะกรรมการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน กรณีที่เป็นการพิจารณาแบบเบ็ดเสร็จในหน่วยงานเดียวหรือเป็นการต่ออายุและสามารถกำหนดให้การอนุญาตที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อนุญาตเพียงกฎหมายฉบับเดียว โดยให้ ก.พ.ร. หรือคณะกรรมการพัฒนากฎหมายสามารถเสนอให้ผู้อนุญาตแก้ไขได้ (เป็นการเพิ่มการกำหนดประเด็นเพื่อใช้ในการพิจารณาทบทวนกฎหมายเพื่อยกเลิกการอนุญาต หรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนดไว้)
2.3 การขยายขอบเขตให้ทุกใบอนุญาตสามารถชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาตได้ และกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ให้หน่วยงานออกเป็นกฎกระทรวง (จากเดิมที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นๆ แทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต สำหรับกิจการหรือการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นการประกอบกิจการต่อเนื่อง โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา)
2.4 การกำหนดระบบการอนุญาตหลัก (Super License)2 กรณีที่เรื่องใดต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาตมากกว่าหนึ่งราย ให้มีการรวมศูนย์อำนาจในการอนุญาตตามกฎหมายหลายฉบับ (เป็นการเพิ่มหลักการใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กรณีการประกอบกิจการที่ต้องขอรับใบอนุญาตจำนวนมาก)
2.5 การทดลองประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวก่อนได้รับใบอนุญาต3 กรณีที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง (เป็นหลักการที่เพิ่มขึ้นใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยใช้ระบบการแจ้งต่อผู้อนุญาตไปพลางก่อนชั่วคราวได้)
2.6 การยกเลิกอายุใบอนุญาต เพื่อให้เป็นใบอนุญาตถาวร หรือขยายอายุใบอนุญาตที่น้อยกว่า 5 ปี เป็นอย่างน้อย 5 ปี ก็ได้ (เป็นการเพิ่มหลักการใหม่เพื่อลดภาระการต่ออายุใบอนุญาตให้แก่ประชาชน สำหรับกรณีที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าอายุใบอนุญาตที่กำหนดในกฎหมายนั้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือไม่มีความจำเป็นต้องมีอายุใบอนุญาตอีกต่อไป)
2.7 การอนุญาตโดยปริยาย แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการพิจารณาอนุญาตที่ครบกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ในคู่มือสำหรับประชาชนว่าหากหน่วยงานยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าเป็นการอนุญาตโดยปริยาย (เดิมไม่มีการกำหนดประเด็นดังกล่าวไว้)
2.8 การดำเนินการกรณีใบอนุญาตชำรุดเสียหาย กำหนดให้กรณีที่ใบอนุญาตหรือหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย ไม่ต้องยื่นหลักฐานที่แสดงการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ (เป็นการเพิ่มหลักการใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องไปแจ้งความเพื่อขอรับใบแทนใบอนุญาต)
2.9 การจัดให้มีแบบฟอร์มภาษาอังกฤษ กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดให้มีแบบฟอร์มใบคำขอ ใบอนุญาต หลักฐานการต่ออายุใบอนุญาต และใบแทนใบอนุญาต เป็นภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ยื่นคำขอหรือผู้รับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ตามที่ผู้ยื่นคำขอหรือผู้รับใบอนุญาตร้องขอ (เป็นการเพิ่มหลักการใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการต่างชาติหรือผู้ประกอบการไทยซึ่งต้องใช้ในการติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ)
2.10 การจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน (Fast track)4 ถือเป็นประโยชน์และเป็นทางเลือกให้กับประชาชนให้ได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มช่องทางดังกล่าวควรอยู่บนพื้นฐานว่าการให้บริการช่องทางปกติของหน่วยงานต้องมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน (เป็นการเพิ่มเติมทางเลือกให้แก่ประชาชนให้ได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น)
2.11 การจัดตั้งศูนย์รับคำขอกลางแทนศูนย์รับคำขออนุญาต ทำหน้าที่รับคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยกำหนดให้สามารถมอบหมายเอกชนเป็นผู้ดำเนินการศูนย์ดังกล่าวได้ (เป็นการปรับเปลี่ยนหลักการเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยกำหนดให้สำนักงาน ก.พ.ร. มีหน้าที่จัดให้มีศูนย์รับคำขอกลางขึ้น แต่สามารถมอบให้เอกชนดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ.ร. กำกับดูแลก็ได้)
2.12 การปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….5 เพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวในการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น การเพิ่มเรื่องการยื่นคำขอโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์)
3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
จากข้อเสนอการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เมื่อนำมาประเมินความคุ้มค่าหากมีการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวจะสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามแนวทางของธนาคารโลก ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์เป็น 3 ด้าน ได้แก่ การบริการที่รวดเร็วขึ้น (Faster) การบริการที่ง่ายขึ้น (Easier) และการบริการที่ถูกลง (Cheaper) มีผลการวิเคราะห์สรุปได้ ดังนี้
3.1 การบริการที่รวดเร็วขึ้น (Faster)
1) การปรับเปลี่ยนการพิจารณาอนุญาตโดยคณะกรรมการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน คาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนงานที่มีการพิจารณาโดยคณะกรรมการจาก 604 งาน เหลือเพียง 43 งาน ซึ่งเป็นกระบวนงานที่เบ็ดเสร็จในหน่วยงานเดียว หรือเป็นการต่ออายุและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น การออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย การต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศประเภทไม่ประจำทางด้วยรถโดยสาร ทำให้สามารถลดเวลาการพิจารณาได้เฉลี่ย 22 วันทำการ/งานบริการ
2) การนำระบบการอนุญาตหลัก (Super License) มาใช้ในการอนุญาตจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้เร็วขึ้น เช่น การขออนุญาตของธุรกิจค้าปลีกจากเดิมที่ต้องติดต่อไม่น้อยกว่า 13 หน่วยงาน ใช้ระยะเวลา 284 วันทำการ เหลือเพียงติดต่อ 1 ช่องทาง ใช้เวลา 185 วันทำการ และกิจการสปา จากเดิมต้องติดต่อไม่น้อยกว่า 9 หน่วยงาน ใช้ระยะเวลา 120 วันทำการ เหลือเพียงติดต่อ 1 ช่องทาง ใช้ระยะเวลา 96 วันทำการ
3.2 การบริการที่ง่ายขึ้น (Easier)
1) การทดลองประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวก่อนได้รับใบอนุญาต คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ จำนวน 19 กิจการ ในกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่นกิจการขายอาหารสัตว์ กิจการสปา
2) การขยายจำนวนใบอนุญาตที่สามารถดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาต จากปัจจุบันดำเนินการได้ 31 ใบอนุญาต เป็น 154ใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ ใบอนุญาตค้าโบราณวัตถุ จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 890,315 ราย ภาครัฐได้รับค่าธรรมเนียมได้เร็วขึ้นประมาณการขั้นต่ำ 253.25 ล้านบาท/ปี
3) การขยายอายุใบอนุญาตเป็นไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่มีอายุใบอนุญาต คาดว่าจะดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 19 ใบนุญาต ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การออกใบอนุญาตขายปุ๋ย การขออนุญาตการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกที่ไม่ต้องไปติดต่อราชการเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตทุกปี ประมาณ 764,850 ราย /ปี และลดภาระค่าใช้จ่ายรวมของประชาชนในการติดต่อราชการประมาณ 590.02 ล้านบาท/ปี (เมื่อคิดเป็นประมาณการค่าเดินทางไป - กลับในอัตรา 100 บาท)
3.3 การบริการที่ถูกลง (Cheaper)
1) การปรับเปลี่ยนระบบการอนุญาตเป็นการจดแจ้งเพื่อลดระยะเวลาในการขออนุญาตในกิจการที่ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนจากการอนุญาตเป็นจดแจ้งได้ จำนวน 11 ใบอนุญาต และจดแจ้งเป็นจดแจ้งออนไลน์ได้จำนวน 72 งานบริการ จาก 336 งานบริการ มีผู้รับบริการประมาณ 15.85 ล้านราย/ปี จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายรวมของประชาชนในการติดต่อราชการประมาณ 1585.12 ล้านบาท/ปี (เมื่อคิดเป็นประมาณการค่าเดินทางไป - กลับในอัตรา 100 บาท)
2) การกำหนดให้เมื่อใบอนุญาตชำรุด สูญหาย ไม่ต้องแจ้งความ คาดว่าจะช่วยลดจำนวนการแจ้งความ จำนวน 66,000 ใบแจ้งความ/ปี ทำให้สามารถลดค่าเดินทางรวมของประชาชนประมาณ 6.60 ล้านบาท/ปี (เมื่อคิดเป็นประมาณการค่าเดินทางไป - กลับในอัตรา 100 บาท)
4. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำแผนการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน โดยจัดลำดับตามความเหมาะสมของเรื่องที่จะดำเนินการพร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
เรื่อง |
แนวทางการดำเนินการ |
ระยะเวลา |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
1. การขยายรายชื่อใบอนุญาตที่จะดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมแทนการขอต่ออายุใบอนุญาต |
ศึกษารายชื่อใบอนุญาตที่มีความเสี่ยงต่ำและความพร้อมของหน่วยงานที่จะดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเพิ่มเติม |
เมษายน – กันยายน 2565 |
สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. และหน่วยงานที่ให้บริการต่ออายุใบอนุญาต |
|
2. ระบบการอนุญาตหลัก (Super License) |
ทดลองนำร่องดำเนินการในกิจการที่ดำเนินการได้เบ็ดเสร็จในหน่วยงานเดียว |
เมษายน – กันยายน 2565 |
สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และหน่วยงานผู้อนุญาต |
|
3. การทบทวน การอนุมัติอนุญาต |
ส่งเสริมหน่วยงานนำร่องในการทบทวนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอนุญาตตามแนวทางที่กำหนดไว้ เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการอนุมัติอนุญาตเป็นการจดแจ้ง การยกเลิกการพิจารณาโดยคณะกรรมการ |
ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 |
สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. และหน่วยงานผู้อนุญาต |
______________________
1นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เมื่อวันที่ 28 พฤษกาคม 2564 โดยมีข้อสั่งการเพิ่มเติมว่าจะต้องดำเนินการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบและสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมายทุกฉบับ รวมถึงเข้าใจวิธีการเข้ารับการบริการต่างๆ จากภาครัฐได้อย่างทั่วถึงทุกกลุ่มอาชีพ
2เป็นระบบการอนุญาตหลักของการประกอบกิจการหรือดำเนินการเรื่องที่ต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาตมากกว่าหนึ่งราย ซึ่งเป็นหลักการใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตหลักสามารถประกอบกิจการนั้นได้เลย โดยถือเสมือนว่าได้รับใบอนุญาตรองครบถ้วนด้วยแล้ว ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตทุกใบให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
3การทดลองประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวก่อนได้รับใบนุญาต จะต้องแจ้งต่อผู้อนุญาตก่อนเริ่มประกอบกิจการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน และหากประชาชนที่ประกอบกิจการชั่วคราวนั้นประสงค์จะประกอบกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เริ่มประกอบกิจการชั่วคราว
4การจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วนกำหนดขึ้นสำหรับกรณีที่ผู้ยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียมพิเศษหรือค่าบริการพิเศษตามที่ผู้อนุญาตกำหนด ทั้งนี้ หากผู้อนุญาตดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาให้คืนค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่ผู้ยื่นคำขอ
5มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การทำธุรกรรมระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ การติดต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน และระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานรัฐ สามารถใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มีนาคม 2564) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปรัฐสภาเพื่อพิจารณาแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (สภาผู้แทนราษฎร)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7464