มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 July 2022 22:45
- Hits: 3629
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศและร่างพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
2. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้าภายในประเทศ และร่างพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
สาระสำคัญ
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ
1.1 วัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน
1.2 กลุ่มเป้าหมาย บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
1.3 ระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
1.4 วิธีการดำเนินงาน
1) สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าวที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้ดังนี้
1.1) 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
1.2) 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1.1)
1.3) ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่งๆ เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1.1) และข้อ 1.2) ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1.1) หรือข้อ 1.2) แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
2.1) เป็นไปในทำนองเดียวกันกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 405) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าอบรมสัมมนาของลูกจ้างภายในประเทศ
2.2) พื้นที่
2.2.1) จังหวัดท่องเที่ยวรอง (อ้างอิงจากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 656) พ.ศ. 2561 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการอบรมสัมมนา และการเดินทางท่องเที่ยวและที่พักเพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรอง) โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัด และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัด 15 จังหวัด
2.2.2) เขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2.2.3) ท้องที่อื่นนอกจากข้อ 2.2.1) และข้อ 2.2.2)
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
1.5 สูญเสียรายได้ ประมาณการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 334 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวนประมาณ 1,700 ราย เป็นจำนวนเงินประมาณ 1,670 ล้านบาท
2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้าภายในประเทศ
2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าภายในประเทศ อีกทั้งสนับสนุนการจ้างงาน
2.2 กลุ่มเป้าหมาย บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
2.3 ระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
2.4 วิธีการดำเนินงาน
1) สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศ ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
2.1) งานออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศต้องเริ่มจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 (เริ่มจัดภายในช่วงเวลาดังกล่าวและอาจจัดถึงภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ก็ได้)
2.2) ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้จัดงานว่าได้เข้าร่วมจัดงานจริง
2.3) ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
2.5 สูญเสียรายได้ ประมาณการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 121 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวนประมาณ 6,050 บูธ เป็นจำนวนเงินประมาณ 605 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7456