ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี ค.ศ. 2022
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 July 2022 22:33
- Hits: 3850
ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี ค.ศ. 2022
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี ค.ศ. 2022 (ร่างปฏิญญาฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และ/หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอีก รวมทั้งให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมรับรองร่างปฏิญญาฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
[คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) จัดการประชุม HLPF ประจำปี ค.ศ. 2022 ระหว่างวันที่ 5 – 15 กรกฎาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุมดังกล่าวในวันที่ 15 กรกฎาคม 2565]
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ECOSOC มีกำหนดการจัดการประชุม HLPF ประจำปี ศ.ศ. 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก “การพื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิมจากโรคโควิด 19 และยกระดับการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 อย่างเต็มที่ [Building back better from the coronavirus disease (COVD - 19) while advancing the full implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development]” โดยจะหารือเชิงลึกเกี่ยวกับ SDGs 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) เป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล (Life below Water) เป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนบก (Life on Land) และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals) เพื่อกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อน SDGs ตลอดจนเตรียมการสำหรับการประชุม 2030 SDG Summit ในเดือนกันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาทั้งนี้ ในการประชุม HLPF ประจำปี ค.ศ. 2022 จะมีการนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) จาก 44 ประเทศ ซึ่งมีประเทศสมาชิกอาเซียน 1 ประเทศ คือ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
2. ร่างปฏิญญาฯ มีเนื้อหาเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่จะร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development : 2030 Agenda) และตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด 19 ในระดับโลก รวมทั้งเป็นการสะท้อนผลการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินการตาม SDGs ทั้ง 5 เป้าหมาย (ตามข้อ 1) ที่จะมีการหารือเชิงลึกในปีนี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7453