ผลการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 July 2022 22:30
- Hits: 3502
ผลการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีในโอกาสเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการเยือนญี่ปุ่นฯ ต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 ภายใต้หัวข้อ “การทบทวนบทบาทของเอเชียในโลกที่แบ่งฝ่าย” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของไทยภายใต้บริบทความท้าทายของภูมิภาคในปัจจุบัน และได้หารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายคิชิดะ ฟูมิโอะ) ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ/ผลการหารือฯ |
|
(1) การกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ “การทบทวนบทบาทของเอเชียในโลกที่แบ่งฝ่าย” |
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความท้าทายและความชะงักงันในภูมิภาคและในโลกว่า ภูมิภาคเอเชียควรจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัวและสนับสนุนความยั่งยืน รวมทั้งสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงสองปีที่ผ่านมาทำให้ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้ว่า ความยืดหยุ่นปรับตัวต่อความชะงักงันใดๆ เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการประคับประคองและการเจริญเติบโต ในการนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอประเด็นที่ไทยเชื่อว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียจะร่วมมือกันได้เพื่อก้าวข้ามความท้าทายที่เผชิญในปัจจุบัน ได้แก่ (1) การกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2) การสนับสนุนระบบพหุภาคีต่อไป เนื่องจากไม่มีประเทศใดที่สามารถรับมือและจัดการกับความท้าทายต่างๆ ได้เพียงลำพัง และ (3) การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่กับความยั่งยืน ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) ของไทยจะมีส่วนช่วยส่งเสริมแนวทางนี้ได้ |
|
(2) การพบหารือกับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายคิชิดะฯ) |
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายคิชิดะฯ) เพื่อย้ำความสำคัญของการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ตามผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรม สรุปได้ ดังนี้ (2.1) การยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะตั้งเป้าหมายการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” เพื่อสะท้อนพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและรอบด้านในช่วงที่ผ่านมา โดยจะประกาศเรื่องนี้ในโอกาสการหารือทวิภาคีครั้งต่อไปห้วงการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565 (2.2) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ (2.2.1) แผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะให้ไทยและญี่ปุ่นประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 (Thailand-Japan High Level Joint Commission: HLJC) ช่วงเดือนกันยายน 2565 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (2.2.2) การขยายการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น 1) ขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย [เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เคมีภัณฑ์ และเศรษฐกิจ BCG] 2) ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยต่อความสนใจของเอกชนญี่ปุ่นที่จะลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) (เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา) และ 3) ขยายจำนวนสถาบันโคเซ็นในไทยและจัดตั้ง KOSEN Education Center (2.2.3) การท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายสำหรับการทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น และเชิญชวนชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น (2.3) ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีแจ้งว่า ไทยได้รับมติเห็นชอบจากอาเซียนในการเป็นที่ตั้งสำนักเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่และสำนักงานด้านการตอบสนอง และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ยืนยันการสนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ และการเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมฯ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะหารือกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาและสถานการณ์ในยูเครนที่ยืดเยื้อ และย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ |
|
(3) การพบหารือกับประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) |
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้หารือกับประธานเคดันเรน (นายโทคุระ มาซาคาสึ) และประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย (นายซูซูกิ โยชิฮิสะ) ภายใต้เคดันเรน เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ดังนี้ (3.1) ประธานเคดันเรนเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยมีลักษณะเกื้อกูลกัน และไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นในอาเซียนโดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมกราคม 2565 ได้ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันและเห็นว่าควรกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยญี่ปุ่นยินดีที่จะสนับสนุนไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ญี่ปุ่นขยายการลงทุนในไทย และเห็นว่าทั้งสองประเทศควรร่วมมือกันลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต พร้อมแจ้งว่า เป้าหมายของไทยคือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง จึงสนับสนุนให้ญี่ปุ่นขยายห่วงโซ่อุปทานเพื่อเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยตามนโยบาย Thailand+1 (3.2) ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทยแจ้งแผนการนำสมาชิกกว่า 70 บริษัทภายใต้คณะกรรมการฯ เยือนไทยในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2565 หรือต้นปี 2566 เพื่อพบหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และเยี่ยมชมภาคอุตสาหกรรม โดยประสงค์เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีด้วย |
|
(4) การพบหารือกับผู้ว่าการ JIBC และที่ปรึกษาพิเศษ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น |
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้ว่าการ JBIC (นายมาเอดะ ทาดาชิ) และที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายมุราอิ ฮิเดกิ) โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอรับความร่วมมือ JBIC ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน กับ EEC เพื่อให้เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จระหว่าง 3 ฝ่าย (ไทย-จีน-ญี่ปุ่น) รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน ซึ่งผู้ว่าการ JBIC แจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ได้มาเยือนไทย ได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งมีบริษัทวิสาหกิจเริ่มต้นของญี่ปุ่นและบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซียและเอกชนของอิตาลีเข้าร่วมด้วย โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีศักยภาพสำหรับไทยและเอกชนด้านพลังงานของไทย |
|
(5) การศึกษาดูงาน ณ Haneda Innovation (HI) City |
นายกรัฐมนตรีได้ศึกษาดูงานด้านเมืองอัจฉริยะ ณ HI City กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมศูนย์วิจัยและการทดลองเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีทางการแพทย์ สถานีไฮโดรเจน และแหล่งรวมของร้านค้า โรงแรม สำนักงาน และศูนย์จัดการประชุม โดยขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำตัวอย่างความสำเร็จจาก HI City ไปใช้พัฒนาเมืองอัจฉริยะในไทยต่อไป |
2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการเยือนญี่ปุ่นฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ เช่น
ประเด็น |
การดำเนินการที่สำคัญ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
||
(1) การยกระดับสถานะ ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” |
หารือกับฝ่ายญี่ปุ่นเกี่ยวกับแนวทางการประกาศการยกระดับความสัมพันธ์ เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ในห้วงการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565 |
กต. |
||
(2) การจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ระยะ 5 ปี |
หารือกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องของไทยและฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับสมบูรณ์ และหารือเกี่ยวกับช่วงเวลาและแนวทางการในประกาศแผนยุทธศาสตร์ฯ ในห้วงการประชุม HLJC ในเดือนกันยายน 2565 |
กต. กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) |
||
(3) การส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในไทย |
ดำเนินการเพื่อดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย เช่น สาขา EV และเคมีภัณฑ์ สาขาเศรษฐกิจ BCG การแพทย์ ดิจิทัล และเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงพื้นที่ EEC |
กค. กต. อว. กษ. ดศ. พน. สธ. อก. สกท. สกพอ. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม |
||
(4) การพัฒนา EEC |
พิจารณาข้อเสนอแนะของญี่ปุ่นเกี่ยวกับความสนใจของเอกชนญี่ปุ่นที่จะลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานใน EEC เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ประโยชน์ และความเหมาะสมในด้านต่างๆ |
กค. กต. คค. และ สกพอ. |
||
(5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ |
หารือรายละเอียดเพื่อจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการขยายจำนวนการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติมและการจัดตั้ง KOSEN Education Center และเสนอฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณา |
กค. กต. อว. ศธ. และ อก. |
||
(6) ความร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดคาร์บอน ภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero-Emissions Community |
หารือกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อดำเนินการร่วมมือภายใต้แนวคิด Asia Zero-Emissions Community ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อบรรลุเป้าหมายสังคมปลอดคาร์บอน |
กต. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พน. และ อก. |
||
(7) การเยือนไทยของคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย ภายใต้เคดันเรน |
หารือกับเคดันเรนเพื่อเตรียมการสำหรับการเยือนไทยของประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทยและสมาชิกกว่า 70 บริษัทภายใต้คณะกรรมการฯ เพื่อพบหารือกับ กกร. และเยี่ยมชมภาคอุตสาหกรรมในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2565 หรือต้นปี 2566 |
กต. อว. ดศ. พน. อก. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) สกท. สกพอ. และ กกร. |
||
(8) การศึกษาดูงาน ณ HI City |
ดำเนินการศึกษา HI City และนำตัวอย่างความสำเร็จที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยต่อไป |
กต. อว. คค. ดศ. และ พน. |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7452