ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 July 2022 22:51
- Hits: 3061
ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดนิยาม ขอบเขตการใช้บังคับกฎหมาย และวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
1.1 กำหนดบทนิยาม (ร่างมาตรา 4) เช่น
“การรวบรวมกฎหมาย” หมายความว่า การนำกฎหมายและกฎที่เป็นเรื่องเดียวกัน เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกัน มารวบรวมไว้ในแหล่งเดียวกันในรูปแบบสิ่งพิมพ์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือรูปแบบอื่น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ หรือเพื่อการใช้ประโยชน์ของประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ
“การจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ” หมายความว่า การนำกฎหมายและกฎที่เป็นเรื่องเดียวกัน เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกัน ที่บังคับใช้อยู่ มาบัญญัติรวมไว้เป็นประมวลกฎหมายและกฎ ทั้งนี้ โดย ไม่เปลี่ยนแปลงหลักการ เนื้อความ สาระสำคัญ และลำดับศักดิ์ของกฎหมายและกฎที่นำมาประมวลนั้น
1.2 กำหนดให้กระบวนการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎตามร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การจัดทำประมวลกฎหมายที่ต้องยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงประมวลกฎหมายดังกล่าว (ร่างมาตรา 3)
1.3 กำหนดวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้เป็นการรวบรวมกฎหมายเพื่อจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง (ร่างมาตรา 6)
2. กำหนดหลักการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ โดยเป็นการนำกฎหมายและกฎมารวบรวมไว้เป็นประมวลกฎหมายและกฎ โดยต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการ เนื้อความ สาระสำคัญ และลำดับศักดิ์ของกฎหมายและกฎที่นำมาประมวล เว้นแต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำที่บกพร่องผิดพลาด ถ้อยคำล้าสมัย ถ้อยคำฟุ่มเฟือย ถ้อยคำที่ประสงค์ให้มีความหมายเดียวกันแต่ใช้ไม่สอดคล้องกัน หรือถ้อยคำกำกวมหรือก่อให้เกิดความ ไม่ชัดเจน หรือเป็นการแก้ไขโครงสร้างของบทบัญญัติกฎหมายหรือกฎ เพื่อให้บทบัญญัติในประมวลกฎหมายและ กฎเข้าใจได้ง่ายและสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น เช่น ยุบรวมบทบัญญัติหลายมาตราเป็นมาตราเดียวหรือแยกบทบัญญัติมาตราเดียวเป็นหลายมาตรา (ร่างมาตรา 7)
3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ” ซึ่งเรียกโดยย่อตามบทนิยามว่า “คณะกรรมการนโยบาย” ประกอบด้วย (1) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน ได้แก่ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด (2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 8 คน มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
3.1 จัดทำแผนงานหรือโครงการเกี่ยวกับการรวบรวมกฎหมายและการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ รวมทั้งพิจารณาเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายและกฎที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
3.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขอบเขตเนื้อหาในการรวบรวมกฎหมายและการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเผยแพร่การรวบรวมกฎหมายและประมวลกฎหมายและ กฎต่อสาธารณะ
(ร่างมาตรา 12 และร่างมาตรา 17)
4. ให้คณะกรรมการนโยบายตามข้อ 3 แต่งตั้งคณะกรรมการ ดังนี้
4.1 คณะกรรมการรวบรวมกฎหมายคณะหนึ่งหรือหลายคณะในแต่ละคณะ ประกอบด้วย (1) ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในกฎหมายเรื่องนั้นซึ่งคณะกรรมการนโยบายคัดเลือกจำนวน 1 คน เป็นประธานกรรมการ (2) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้รักษาการตามกฎหมายที่จะนำมารวบรวม กรณีที่กฎหมายใดไม่มีผู้รักษาการ ให้ผู้แทน สคก. เป็นกรรมการแทน (3) ผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และ (4) ผู้แทน สคก.
4.1.1 มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ กฎหมายหรือกฎที่เป็นเรื่องเดียวกัน เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อดำเนินการรวบรวมไว้ในแหล่งเดียวกัน
(2) กำหนดขอบเขตเนื้อหาและรูปแบบของการรวบรวมกฎหมายเสนอ ต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาเห็นชอบ
(3) ดำเนินการรวบรวมกฎหมายตามขอบเขตเนื้อหาที่คณะกรรมการนโยบายเห็นชอบ
(ร่างมาตรา 21 และร่างมาตรา 22)
4.1.2 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมกฎหมาย โดยเมื่อคณะกรรมการรวบรวมกฎหมายดำเนินการจัดทำการรวบรวมกฎหมายเสร็จแล้ว ให้เสนอรายงานและร่างการรวบรวมกฎหมายดังกล่าว พร้อมความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายว่าควรจัดทำเป็นประมวลกฎหมายและกฎต่อไปหรือไม่ หรือควรดำเนินการอย่างใดต่อไป ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรวบรวมกฎหมายส่งร่างการรวบรวมกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายไปยัง สคก. เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป ทั้งนี้ ต้องวิเคราะห์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือที่มาของกฎหมายหรือกฎที่จะนำมารวบรวม และขอบเขตเนื้อหาของกฎหมายหรือกฎที่จะนำมารวบรวม
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายอาจกำหนดขอบเขตเนื้อหาของกฎหมายหรือกฎที่จะนำมารวบรวมเพิ่มเติมก็ได้ เช่น หนังสือเวียน หนังสือสั่งการ แนวปฏิบัติในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ การตีความกฎหมาย การตอบข้อหารือ บรรดาที่มีผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย คำสั่ง คำพิพากษา คำวินิจฉัยของศาล คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท หรือคณะกรรมการอื่น รวมทั้งข้อมูลกฎหมายอื่นซึ่งคณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
(ร่างมาตรา 25 และร่างมาตรา 26)
4.2 คณะกรรมการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎคณะหนึ่งหรือหลายคณะ ในแต่ละคณะประกอบด้วย (1) ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในกฎหมายเรื่องนั้นจำนวนไม่เกิน 2 คน (2) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ผู้รักษาการตามกฎหมายที่จะนำมารวบรวมกรณีที่กฎหมายใดไม่มีผู้รักษาการ ให้ผู้แทน สคก. เป็นกรรมการแทน (3) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และผลงานที่ประจักษ์ และ (4) ผู้แทน สคก. (ร่างมาตรา 28)
4.2.1 มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดขอบเขตเนื้อหาของประมวลกฎหมายและกฎเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาเห็นชอบ
(2) ดำเนินการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎตามขอบเขตเนื้อหาที่คณะกรรมการนโยบายเห็นชอบ
(ร่างมาตรา 28 และร่างมาตรา 30)
4.2.2 ในการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ ห้ามแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหลักการ เนื้อความ สาระสำคัญ และลำดับศักดิ์ของกฎหมายและกฎที่นำมาประมวล เพื่อให้บทบัญญัติในประมวลกฎหมายและกฎเข้าใจได้ง่ายและสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น เช่น ยุบรวมบทบัญญัติหลายมาตราเป็นมาตราเดียว หรือแยกบทบัญญัติมาตราเดียวเป็นหลายมาตรา และเพื่อประโยชน์ในการแสดงประเภทและศักดิ์ของกฎหมายและกฎที่นำมารวบรวมไว้ในประมวลกฎหมายและกฎ ให้ระบุชื่อย่อของกฎหมายหรือกฎไว้หน้าเลขมาตรานั้นด้วย ได้แก่ พระราชบัญญัติให้ใช้ชื่อย่อว่า “พรบ.” พระราชกำหนด ให้ใช้ชื่อว่า “พรก.” และพระราชกฤษฎีกา ให้ใช้ชื่อย่อว่า “พรฎ.” ทั้งนี้ การจัดทำประมวลกฎหมายและกฎให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และขยายระยะเวลาต่อคณะกรรมการนโยบายออกไปได้คราวละไม่เกิน 90 วัน ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
(1) เมื่อคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบกับร่างประมวลกฎหมายและกฎดังกล่าวแล้ว ให้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ แล้วจึงเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎต่อไป ทั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นชอบภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎ ให้ร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎนั้นตกไป ร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือที่แก้ไขให้ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ โดยมีผลเป็นการยกเลิกบทบัญญัติของกฎหมายและกฎที่นำมารวบรวมในประมวลกฎหมายและกฎ
(2) เมื่อประมวลกฎหมายและกฎมีผลใช้บังคับแล้ว ผู้รักษาการตามกฎหมายและกฎที่นำมารวบรวมเป็นประมวลกฎหมายและกฎมีหน้าที่จัดทำรายงานผลการบังคับใช้ประมวลกฎหมายและกฎ และเสนอแนะแนวทางแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกบทบัญญัติของประมวลกฎหมายและกฎในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของตน ให้คณะกรรมการนโยบายทราบปีละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่พิจารณาทบทวนความเหมาะสมของเนื้อหา โครงสร้าง และหมวดหมู่ของประมวลกฎหมายและกฎอย่างน้อยทุก 5 ปี และกรณีการแก้ไขเพิ่มเติม ปรับปรุง หรือยกเลิกบทบัญญัติของประมวลกฎหมายและกฎในส่วนที่เป็นกฎหมาย ให้ดำเนินการโดยตรากฎหมาย สำหรับบทบัญญัติในส่วนที่เป็นกฎให้ดำเนินการโดยตรากฎซึ่งมีลำดับศักดิ์เดียวกันหรือสูงกว่าหรือโดยตรากฎหมาย
(ร่างมาตรา 39 ร่างมาตรา 41 ร่างมาตรา 44 และร่างมาตรา 45)
5. กำหนดให้คณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการรวบรวมกฎหมาย คณะกรรมการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ และคณะอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่น ส่วนบุคคลที่คณะกรรมการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎแต่งตั้งเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดแทนหรือตามที่มอบหมายให้ได้รับประโยชน์ตอบแทนอื่น ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ร่างมาตรา 10)
6. กำหนดหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐและ สคก. ในการรวบรวมกฎหมายและการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ ดังนี้
6.1 หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบข้อมูลกฎหมาย กฎ มติคณะรัฐมนตรี หนังสือเวียน หนังสือสั่งการ แนวปฏิบัติในการดำเนินการของหน่วยงาน การตีความกฎหมาย การตอบข้อหารือ บรรดาที่มีผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย คำสั่ง คำพิพากษา คำวินิจฉัยของศาล คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท หรือคณะกรรมการอื่น รวมทั้งข้อมูลกฎหมายอื่นซึ่งคณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด จัดส่งหรือเชื่อมโยงข้อมูลตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด เพื่อการรวบรวมกฎหมายและการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ
6.2 สคก. มีอำนาจในการเรียกดู เข้าถึง หรือเชื่อมโยงข้อมูล ตามข้อ 6.1 เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมกฎหมายหรือการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ
6.3 กรณีข้อมูลกฎหมายหรือกฎขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจในการเรียกดู เข้าถึง หรือเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมกฎหมายหรือการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ และเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เห็นว่ามีความพร้อมเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดส่งหรือเชื่อมโยงข้อมูล
7. กำหนดให้ สคก. มีหน้าที่ปฏิบัติงานธุรการ งานประชุม งานวิชาการ การศึกษาหาข้อมูล การสอบถามความคิดเห็น การประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่คณะกรรมการนโยบายการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ คณะกรรมการรวบรวมกฎหมาย คณะกรรมการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ และคณะอนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ สคก. อาจจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อรับผิดชอบการดำเนินการดังกล่าว
(ร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 11)
8. กำหนดบทเฉพาะกาล
8.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
8.2 ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชุดแรก ให้คณะกรรมการนโยบายจัดทำแผนงานหรือโครงการในการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎอย่างน้อยปีละ 2 เรื่อง
8.3 ให้ สคก. สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำโครงสร้าง สคก. กรอบอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการ และกำหนดงบประมาณ รวมทั้งการดำเนินการอื่นใดอันจำเป็น เพื่อรองรับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของ สคก. ตามพระราชบัญญัตินี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(ร่างมาตรา 46 ร่างมาตรา 47 และร่างมาตรา 48)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7196