ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลักษณะ กิจการ หรือหน่วยงานที่ยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 July 2022 22:45
- Hits: 2891
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลักษณะ กิจการ หรือหน่วยงานที่ยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลักษณะ กิจการ หรือหน่วยงานที่ยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า
1. สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับแล้ว ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ กลไกและมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไปในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล การร้องเรียน รวมถึงความรับผิดทางแพ่ง โทษอาญา และโทษทางปกครอง แต่โดยที่พระราชบัญญัติในเรื่องนี้อาจมีเนื้อหาสาระสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่ดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ การจัดเก็บภาษีของหน่วยงานรัฐ การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การดำเนินการของหน่วยงาน ศาล อัยการ และผู้บังคับใช้กฎหมายอันเป็นเรื่องจำเป็นที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระดับสากลจะกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้
2. ในคราวการประชุมหารือผู้แทนหน่วยงานด้านการรักษาความมั่นคง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ได้พิจารณาและมีข้อยุติว่า สาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายว่าด้วยข่าวกรองแห่งชาติมีผลกระทบต่อการดำเนินงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ จำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ
3. โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติให้การยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนมาใช้บังคับแก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะใด กิจการใด หรือหน่วยงานใดทำนองเดียวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ดศ. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลักษณะ กิจการ หรือหน่วยงานที่ยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อยกเว้นการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ไม่ให้บังคับใช้กับลักษณะหรือกิจการ หรือหน่วยงานบางส่วนได้ หากเป็นการเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่ดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ การจัดเก็บภาษีของหน่วยงานรัฐ การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การดำเนินการของหน่วยงาน ศาล อัยการ และผู้บังคับใช้กฎหมาย
4. ในคราวประชุมคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลักษณะ กิจการ หรือหน่วยงานที่ยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ พ.ศ. .... แล้ว มีมติเห็นชอบให้ ดศ. นำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเสนอ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล* สามารถดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผย ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ การจัดเก็บภาษีของหน่วยงานรัฐ การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การดำเนินการของหน่วยงาน ศาล อัยการ และผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยมิให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 (การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) หมวด 3 (สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล) หมวด 5 (การร้องเรียน) หมวด 6 (ความรับผิดทางแพ่ง) และหมวด 7 (บทกำหนดโทษ) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งหมดมาใช้บังคับกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้
1. เมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการที่มีกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายรองรับอำนาจ หากหน่วยงานดังกล่าวดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์หรือภารกิจ ดังต่อไปนี้
1.1 การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ การข่าวกรอง การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางการคลังและเศรษฐกิจของประเทศ การรักษาความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยาเสพติด ภัยคุกคามข้ามชาติ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การต่อต้านการทุจริต การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การดำเนินการด้านสาธารณสุข สุขอนามัย เพื่อป้องกันโรคระบาด ชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สินของประชาชน
1.2 การจัดเก็บภาษีตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต การดำเนินการใดๆ อันเกี่ยวกับการบังคับแก่บรรดาธรรมเนียมทางภาษีอากร ค่าฤชาธรรมเนียม หรือค่าอากรใดๆ ให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม รวมถึงการเก็บรวบรวมใช้เปิดเผยหรือประมวลผล หรือส่งผ่านข้อมูลเพื่อดำเนินการดังกล่าวและการดำเนินการตามพันธกรณี หรือความร่วมมือระหว่างประเทศ
1.3 การป้องกันความเสี่ยง การตรวจสอบ การเฝ้าระวัง มาตรการเพื่อบรรเทา การรักษาเยียวยาฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐที่มีกฎหมายรองรับสิทธิเพื่อป้องกันภัยสาธารณะ หรือภัยคุกคามใดๆ ที่ส่งผลต่อสาธารณชนในวงกว้าง
2. เก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผย ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ให้แก่หน่วยงานรัฐหน่วยงานราชการ เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีความร่วมมือหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ทวิภาคีหรือพหุภาคีหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ
3. เก็บรวมรวม ใช้ เปิดเผย ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์ในการพิจารณาพิพากษาคดีทุกประเภทของศาล การดำเนินการของศาล ผู้พิพากษา พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายหรือองค์กรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและบังคับคดี หรือการดำเนินการเพื่อความร่วมมือทางศาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกระบวนการยุติธรรมในประเทศและระหว่างประเทศ
___________________
* “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7195